Friday, November 19, 2010

ความหมายของการวางแผน(Planning)

สำหรับองค์กรขนาดเล็กและขนาดกลางที่มีโครงสร้างยังไม่ชัดเจน ปัญหาที่ผู้บริหารพบเสมอ ๆ คือความไม่แน่นอนในเรื่องงบประมาณ บางครั้งได้รับ บางครั้งไม่ได้รับ ด้วยเหตุใดก็ตาม ผู้บริหารที่ปรารถนาให้องค์กรมีการพัฒนามักมองข้ามปัญหาเหล่านี้ กลับให้ความสำคัญความสนใจการวางแผนโดยไม่มีเงินเป็นปัจจัยป้อน (Input) วิธีการวางแผนที่ผู้เขียนเคยใช้ ใช้ได้ทั้งการมีเงินเป็นปัจจัยและไม่มีเงินเป็นปัจจัยในการวางแผน
โดยพื้นฐานของมนุษย์ทุกคนมีขั้นตอนของความต้องการ ตามทฤษฎีของ มาสโลว์ (Maslow) ซึ่งนักบริหารหรือผู้นำเข้าใจดีอยู่แล้ว ฉะนั้น หากผู้นำปรารถนาให้เกิดบางสิ่งบางอย่างขึ้นในองค์กร ผู้นำสามารถเริ่มต้นด้วยการเป็น Facilitator เปิดเวทีเสวนา (Dialogue) พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เปิดประเด็นการเสวนาพูดคุย ประเด็นหลักที่นำไปสู่การวางแผนที่ดี โดยทั่วไปมีสามประเด็นได้แก่ ศักยภาพขององค์กรและชุมชน ความคาดหวังต้องการขององค์กรและชุมชน และปัญหาอุปสรรคขององค์กร หากบุคลากรทุกคนในองค์กรได้ร่วมเวทีพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดของกันและกัน ได้ถ่ายโอนผ่านการรับรู้ของทีม การจัดลำดับความสำคัญในประเด็นต่าง ๆ ของการพูดคุยก็ทำได้ง่ายขึ้น เมื่อศักยภาพความต้องการและปัญหาถูกจัดลำดับความสำคัญโดยทีมแล้ว ทุกคนจึงมีส่วนร่วมกันวางแผนงานโครงการ บางโครงการอาจไม่จำเป็นต้องใช้เงินงบประมาณ บางโครงการอาจเพียงแต่ขอความร่วมมือกับเครือข่ายเท่านั้น
การวางแผนงานลักษณะนี้ผู้เขียนเคยมีประสบการณ์ในการทำงาน ระดับอำเภอ ทำให้องค์กรระดับอำเภอได้รับรางวัลสถานศึกษา ดีเด่น ในปี พ.ศ.2544 และใช้วิธีการนี้ร่วมกับประชาชน ทำแผนแม่บทชุมชนครบทุกตำบล ทุกหมู่บ้าน ในอำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายกเพื่อใช้เป็นแผนแม่บทในเบื้องต้นเช่นกัน

No comments: