Tuesday, June 28, 2011

ความเป็นทีมบางครั้งต้องมีผู้เสียสละ

เรื่องราวบางอย่างที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ บางทีก็เป็นคติสอนมนุษย์ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับมด ซึ่งอาจกล่าวได้ว่ามดเป็นสัตว์บกที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลก และมีเรื่องราวน่าสนใจของมดมากมาย เช่น ความสามัคคี การทำงานเป็นทีม ความขยันขันแข็ง มีเรื่องจริงเกิดขึ้นขอเล่าให้ฟัง “บ่ายวันหนึ่งหลังจากคนสวนตัดกิ่งต้นราชพฤกษ์ (ต้นคูณ) ที่อยู่ใกล้บ้าน ซึ่งมดแดงเดินข้ามไปข้ามมาระหว่างบ้านกับต้นคูณออกไป มดแดงบางส่วนตกค้างอยู่บนบ้านพักกลับไปรังไม่ได้ ทำให้เห็นพฤติกรรมของผู้เสียสละและความสามัคคี ความรักพวกพ้องของมดแดงเกิดขึ้น มดแดงหลายตัวพยายามต่อตัวกันเป็นสะพานให้พวกเดินข้ามเพื่อกลับไปสู่รัง มดแดงบางตัวคาบเพื่อนที่เจ็บป่วยแบกเดินกลับรัง มดแดงบางตัวเดินกลับไปกลับมาปล่อยกลิ่นโดยใช้ก้นแตะพื้นเป็นระยะๆบอกเส้นทางให้เพื่อนเดินกลับรังได้ถูกต้อง” เกือบชั่วโมงที่เฝ้าสังเกตพฤติกรรมของมดแดงเห็นการกระทำทุกอย่าง เป็นการกระทำเชิงบวกทั้งสิ้น มีแต่ความรัก ความเสียสละความเอื้ออาทรต่อพวกพ้อง มดแดงทำได้อย่างไร ใครเป็นผู้ออกคำสั่งนั้น คำสั่งนั้นเกิดขึ้นโดยจิตสำนึกหรือไม่ ทำไมช่างแสนดีงาม สำนึกนั้นจะเกิดขึ้นกับมนุษย์ได้หรือไม่ และจะเกิดได้อย่างไร น่าฉงน.

Tuesday, June 14, 2011

เขียนในสิ่งที่ทำ ทำแล้วจึงนำมาเขียน

บทสรุปสำหรับผู้บริหาร

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาระบบการบริหารจัดการในการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ของสถานศึกษา สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน และสถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา และเพื่อพัฒนาระบบการบริหารจัดการ ในการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ ของสถานศึกษา สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน โดยการศึกษาข้อมูลเชิงคุณลักษณะเฉพาะกรณีของศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอบ้านนา และสถาบันพัฒนาครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากบุคลากร รวมจำนวน 134 คน และผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 11 คน ด้วยวิธีการสังเกต และการสัมภาษณ์ และวิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลจากการวิจัย พบว่า ระบบการบริหารจัดการ ในการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ของสถานศึกษา สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน และสถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา มีองค์ประกอบและคุณลักษณะสำคัญคล้ายคลึงกัน คือ การพัฒนาภาวะผู้นำพัฒนาความคิดเชิงระบบ และการเรียนรู้ร่วมกันเป็นทีมในลักษณะที่เป็นพลวัตจากการปฏิบัติงานจริงโดยใช้วิธีการเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการจัดการความรู้ ใช้หลักธรรมกัลยาณมิตร ในการขจัดปัญหาอุปสรรค ส่วนการพัฒนาระบบการบริหารจัดการของสถานศึกษาสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน มีลักษณะเป็นองค์รวม โดยเริ่มจากภาวะผู้นำของผู้บริหารและของทีม การจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างวัฒนธรรมขององค์กร เป็นปัจจัยนำเข้าสู่กระบวนการ การเรียนรู้ร่วมกันเป็นทีมจากการปฏิบัติงานจริงในพื้นที่ ทุกขั้นตอนการพัฒนาจะมีผลย้อนกลับสู่กระบวนการและปัจจัยนำเข้าเพื่อการพัฒนาระบบการบริหารจัดการ และเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากร



การบริหารจัดการในการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้


ภารกิจหน้าที่และบริบท
จัดและบริการการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมแก่นักเรียน นักศึกษาทั้งในและนอกระบบโรงเรียนและประชาชนในพื้นที่ที่รับผิดชอบ ศึกษา ค้นคว้าวิจัยและพัฒนารูปแบบกิจกรรม หลักสูตร สื่อ และกระบวนการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม อาทิ ธรรมชาติวิทยา เทคโนโลยีที่เหมาะสม ดาราศาสตร์ เผยแพร่และบริการรูปแบบกิจกรรม หลักสูตร สื่อ และกระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม พัฒนาครู อาจารย์ วิทยากรและบุคลากรทางการศึกษา ผู้รับผิดชอบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมสนับสนุนและประสานงานร่วมกับภาคีเครือข่าย ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ปฏิบัติงานอื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย โดยรับผิดชอบพื้นที่บริการ 9 จังหวัด ในภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดตราด จันทบุรี ระยอง ชลบุรี สมุทรปราการ เป็นพื้นที่ติดฝั่งทะเลอ่าวไทย และจังหวัดฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้วเป็นพื้นที่ติดภูเขา

แรงจูงใจ
ความปรารถนาที่จะสร้างทีมงานให้ทำงานเป็นทีม โดยบุคลากรทั้งทีมรักการเรียนรู้และพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำงานตอบสนองกลุ่มเป้าหมายคลุมพื้นที่ทั้ง 9 จังหวัดที่มีบริบทแวดล้อมแตกต่างกัน

แนวคิด
ได้ศึกษาแนวคิดจาก เอกสาร หนังสือวิชาการรวมทั้ง Website ต่างๆ พบว่าแนวคิดของ
ปีเตอร์ เอม เซงกี้ ( Peter M. Senge) เป็นแนวคิดที่ตอบสนองแรงจูงใจในเรื่อง การพัฒนาองค์กรให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ด้วยการพัฒนาวินัย 5 ประการ คือ
ประการที่ 1 ความคิดเชิงระบบ (Systems thinking) คือ มีความสามารถในการมองแบบองค์รวม โดยจะต้องรู้ว่าสวนต่างๆ ภายในองค์กรมีความสัมพันธ์กัน ผลของการเปลี่ยนแปลงในส่วนหนึ่งจะส่งผลให้ส่วนอื่นเปลี่ยนแปลงไปด้วย
ประการที่ 2 ความเชี่ยวชาญเฉพาะตัว (Personal mastery) ผู้บริหารหรือสมาชิกในองค์กรต้องพัฒนาความรู้ ทักษะ ความชำนาญเฉพาะตัวขึ้นเพื่อให้เป็นผู้รู้จริงในเรื่องหนึ่งๆ เพราะคนรู้จริงจะทำให้สามารถควบคุมสถานการณ์ต่างๆ ได้ และรู้ถึงผลลัพธ์หรือผลกระทบที่จะเกิดกับองค์กรทำให้สามารถป้องกันปัญหา หรือบริหารจัดการปัญหานั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ประการที่ 3 ความเชื่อหรือทัศนคติ (Mental model) ผู้บริหารและสมาชิกขององค์กรจะต้องมีความเชื่อหรือมีทัศนคติที่ถูกต้อง เพราะความเชื่อหรือทัศนคติบางเรื่องอาจเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้และขัดขวางการพัฒนาองค์กร
ประการที่ 4 การสร้างวิสัยทัศน์ร่วม (Shared vision) คือ การทำให้สมาชิดทุกคนขององค์กรสามารถมองเห็นภาพขององค์กรที่อยากจะได้อยากจะเห็นและอยากจะเป็นในอนาคตร่วมกันได้
ประการที่ 5 การเรียนรู้ร่วมกันเป็นทีม ( Team learning) ผู้บริหารต้องสร้างบรรยากาศและส่งเสริมการทำงานเป็นทีม ให้สมาชิกในทีมแต่ละคนเกิดการเรียนรู้ พัฒนาไปพร้อมๆ กัน

กรอบความคิดในการวิจัย
ในการวิจัยได้อาศัยแนวความคิดหลัก 2 ประการ คือ
ประการแรก เป็นแนวความคิดเกี่ยวกับการพัฒนาองค์กรสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ของเซ็งกี้ (Senge) (เดชน์ เทียมรัตน์ และกานต์สุดา มาฆะศิรานนท์. 2546 : 3) ศาสตราจารย์แห่ง MIT Sloan School of Management ซึ่งระบุว่า การพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้นั้น เป็นการเน้นความสำคัญไปที่ภาวะผู้นำ ความคิดเชิงระบบและการเรียนรู้ร่วมกันเป็นทีม ซึ่งเป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ของกันและกันในทีมงาน

ประการที่สอง เป็นแนวความคิดทางพระพุทธศาสนาเกี่ยวกับการเป็นกัลยาณมิตร (พระเทพเวที.2536 : 196) ซึ่งระบุว่า กัลยาณมิตร แปลว่า มิตรที่ดีงาม ทีคุณสมบัติ 7 ประการ คือ มีเมตตา เป็นที่พึ่ง ควรเอาอย่าง เป็นที่ปรึกษาที่ดี เป็นผู้รับฟัง เป็นผู้สอนเรื่องยากให้เข้าใจง่าย ไม่ชักจูงไปในทางเสื่อม

จากแนวคิดทั้งสองประการได้นำมาศึกษาวิจัยถึงระบบการบริหารจัดการในการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้โดยใช้รูปแบบวิจัยเชิงคุณลักษณะ


วิธีดำเนินงานการจัดทำผลงานการศึกษาวิจัย
ศึกษาการพัฒนาระบบการบริหารจัดการในการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ของสถานศึกษาสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน ในศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก รวมทั้งศึกษาระบบการบริหารจัดการในการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ของสถาบันพัฒนาครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา เพื่อการสงเคราะห์ สรุปผลการวิจัยตามลำดับดังนี้
1. วัตถุประสงค์ของการวิจัย
2. วิธีดำเนินการวิจัย
3. สรุปผลการวิจัย
วัตถุประสงค์ของการวิจัย
1. เพื่อศึกษาระบบการบริหารจัดการในการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ของสถานศึกษาสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียนและสถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา
2. เพื่อพัฒนาระบบการบริหารจัดการในการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ของสถานศึกษาสังกัดสำนักงานบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน

วิธีดำเนินการวิจัย
1. กำหนดพื้นที่และเป้าหมายในการวิจัย โดยเลือกศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก และสถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาเป็นพื้นที่ในการวิจัย เป้าหมายในการวิจัย คือ บุคลากรที่ปฏิบัติงานอยู่ในศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอบ้านนา จำนวน 22 คน และบุคลากรที่ปฏิบัติงานอยู่ในสถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 112 คน
2. กำหนดผู้ให้ข้อมูลสำคัญในการวิจัยของศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอบ้านนา และสถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา
3. กำหนดขั้นตอนในการวิจัย โดยดำเนินการตามขั้นตอนดังนี้
3.1 กำหนดกรอบแนวคิดในการวิจัย
3.2 กำหนดเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย
3.3 การเก็บรวบรวมข้อมูล
3.4 การตรวจสอบข้อมูล
3.5 การวิเคราะห์ข้อมูล

สรุปผลการวิจัย
1. การศึกษาระบบการบริหารจัดการในการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ของศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก ได้แก่
1.1 การพัฒนาภาวะผู้นำของบุคลากรในองค์กร โดยการได้รับบทบาทผู้นำหรือผู้รับผิดชอบงานภารกิจใด ในการตัดสินใจจากผู้บริหาร ทำให้เกิดความรู้และความมั่นใจในการทำงานจากการปฏิบัติงานจริง โดยการให้โอกาสบุคลากรทุกคน เป็นผู้นำในกิจกรรมที่ตนรับผิดชอบโดยตรง และผู้ตามเมื่อทำหน้าที่ช่วยเหลือเพื่อน โดยการเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ให้โอกาสในการมีส่วนร่วมในกระบวนการบริหารจัดการตั้งแต่การกำหนดวิสัยทัศน์ การวางแผนปฏิบัติงาน การออกแบบงาน เป็นต้น การส่งเสริมขวัญกำลังใจ โดยการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี ให้ความเป็นกันเองให้โอกาสแสดงความสามารถและให้ผลตอบแทนจากการทำงาน

1.2 การพัฒนาความคิดเชิงระบบของบุคลากรในองค์กร โดยการกำหนดทิศทางการทำงานด้วยการให้บุคลากรมีส่วนร่วมในการกำหนดวิสันทัศน์ เป้าหมาย พันธกิจ และยุทธศาสตร์ในการทำงานร่วมกัน ทำให้การทำงานเป็นระบบพร้อมทั้งพัฒนาความคิดเชิงระบบ ด้วยการจัดระบบการสื่อสาร ประสานงานระหว่างบุคลากรในองค์กรในชุมชน หน่วยงานภายนอก และบุคคลทั่วไปให้บุคลากรมีโอกาสสัมผัสกับทุกภาคส่วน ทำให้เกิดการพัฒนาระบบความคิดและการบริหารจัดการ
1.3 การเรียนรู้ร่วมกันเป็นทีม ดำเนินการพัฒนาการเรียนรู้ร่วมกันเป็นทีมโดยการจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ เช่น การนำเสนอเอกสารที่ส่งเสริมการเรียนรู้ที่เหมาะสม เช่น ป้ายคำขวัญ เอกสารประกอบการปฏิบัติงาน แผนแม่บทต่างๆ สารสนเทศที่สำคัญ เช่น สารานุกรมภูมิปัญญาท้องถิ่น หลักสูตรท้องถิ่น การเรียนรู้จากการมีส่วนร่วม ในการคิดวางแผนและการลงมือปฏิบัติงานร่วมกันเป็นทีม ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันทั้งคณะ การใช้พื้นที่ปฏิบัติงาน

เป็นเวทีเรียนรู้ ทำให้ทุกคนเข้าใจบทบาทของตนในการเป็นผู้นำหรือผู้ตามในสถานการณ์นั้น การจัดระบบการทำงานของบุคลากรเป็นทีม ทำให้เกิดการสร้างผู้นำและพัฒนาผู้นำเป็นลำดับอย่างต่อเนื่อง
1.4 ระบบเชื่อมโยงการบริหารจัดการในการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ด้วยกัลยาณมิตร บุคลากรในองค์กรได้มีการเชื่อมโยง การบริหารจัดการในการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ด้วยกัลยาณมิตรโดยการสร้างความสัมพันธ์ลักษณะพี่น้อง ทำให้มีลักษณะที่พึ่งพาอาศัยกันได้ มีเมตตาต่อกัน ปรึกษาหารือกัน รับฟังแนวคิดของกันและกัน ไม่โกรธกันเมื่อมีความเห็นไม่ตรงกัน การลดการสั่งการจากบริหาร ทำให้เกิดความรู้สึกที่เป็นมิตรต่อกันมากขึ้น การปฏิบัติงาน การติดต่อสัมพันธ์ มีโอกาสเป็นการสื่อสารสองทางมากขึ้นไม่เป็นผู้รับคำสั่งฝ่ายเดียว
2. ระบบการบริหารจัดการในการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ของสถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ
2.1 ภาวะผู้นำ พัฒนาภาวะผู้นำของบุคลากรในองค์กร โดยการดำเนินงานต่างๆ เช่นเดียวกับศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอบ้านนา และเพิ่มเติม คือ การให้อิสระในการทำงาน ให้บุคลากรในองค์กรมีการทำงานในลักษณะที่เป็นอิสระคล้ายคณาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาทั่วไปและการศึกษาดูงาน โดยบุคลากรในองค์กรมีโอกาสศึกษาดูงานทั้งในและต่างประเทศอยู่เสมอ
2.2 ความคิดเชิงระบบ การพัฒนาความคิดเชิงระบบของบุคลากรกระทำโดยวิธีการเช่นเดียวกับศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอบ้านนา และมีการพัฒนาที่นอกเหนือเพิ่มเติม คือ มีการจัดทำและนำเสนอผลงานทางวิชาการ เช่น งานวิจัย ตำรา เอกสารอ้างอิงประกอบการฝึกอบรมจำนวนมาก ทำให้บุคลากรมีความคิดเชิงระบบมากขึ้น
2.3 การเรียนรู้ร่วมกันเป็นทีม การพัฒนาการเรียนรู้ร่วมกันเป็นทีมกระทำโดยวิธีการเช่นเดียวกับศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอบ้านนา และมีวิธีการเพิ่มเติม คือ มีการจัดกิจกรรมสัมพันธ์ระหว่างส่วนต่างๆ ภายในองค์กร เนื่องจากองค์กรมีขนาดใหญ่มีบุคคลจำนวนมาก งานชุมนุมสังสรรค์ต่างๆ จึงเป็นสื่อในการเรียนรู้ร่วมกันได้
2.4 ระบบเชื่อมโยงการบริหารจัดการในการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ด้วยกัลยาณมิตรบุคลากรในองค์กรได้มีการเชื่อมโยงการบริหารจัดการในการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ด้วยกัลยาณมิตร

โดยผู้บริหารเป็นผู้รับฟังผู้ใต้บังคับบัญชา เพื่อการสื่อสารสองทางให้เข้าใจตรงกัน และการให้บุคคลที่สาม พูดทำความเข้าใจในเรื่องที่ยากเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงในองค์กร เช่น การให้บุคลากรเข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการบริหารสถานศึกษา
3. การพัฒนาระบบการบริหารจัดการในการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ของสถานศึกษาสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน
นำผลการสังเคราะห์ระบบการบริหารจัดการในการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ของสถานศึกษาสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน มาจัดการสนทนากลุ่ม พบว่า 1). องค์ประกอบด้านปัจจัยนำเข้า ได้แก่ ภาวะผู้นำของผู้บริหารและของทีม การจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการเรียนรู้ให้บุคลากร การประกาศวัฒนธรรมองค์กร และการรับคุณธรรมกัลยาณมิตร เป็นปัจจัยนำเข้าที่ป้อนเข้าสู่ระบบในลักษณะเป็นพลวัต เชื่อมโยงอย่างต่อเนื่อง 2).องค์ประกอบด้านกระบวนการ ได้แก่ การเรียนรู้ร่วมกันเป็นทีม การใช้เทคนิคการเสวนา การใช้เทคนิคแผนภูมิความคิด การเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง การจัดการความรู้ การออกแบบงานเป็นโครงการ การจัดทำวิสัยทัศน์ร่วมขององค์กร การวางแผนกลยุทธ์ และการใช้หลักธรรมกัลยาณมิตร และ 3). องค์ประกอบด้านผลผลิต บุคลากรเกิดการเรียนรู้เพิ่มศักยภาพทักษะ เกิดองค์ความรู้และนวัตกรรม ผลย้อนกลับภายใต้สิ่งแวดล้อม คือ ผู้บริหารเป็นผู้ตัดสินใจเลือกผลกระทบเชิงบวกเข้าสู่องค์กร เพื่อพัฒนาขีดความสามารถบุคลากร

ผลที่เกิดจากการนำผลงานวิชาการไปใช้
ได้นำผลการวิจัยไปใช้ในการพัฒนาบุคลากร สถานศึกษาศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก บุคลากรสามารถทำงานเป็นทีม นำความรู้ไปทำงานในชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ได้รับความไว้วางใจจากผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก นายเจตน์ ธนวัฒน์มอบหมายให้สืบค้นทำวิจัยเกี่ยวกับชาติพันธุ์ไทยพวนในจังหวัดนครนายก เพื่อนำเสนอกราบบังคมทูลสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในคราวเสด็จนำนักเรียนนายร้อย จปร. ชั้นปีที่ 5 ศึกษาดูงานประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ไทยพวน ณ วัดฝั่งคลอง อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2550 ส่งผลให้นายปัญญา วารปรีดี ได้รับโล่ผู้บริหารสถานศึกษาดีเด่น ปี พ.ศ. 2550 จากสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และนำผลการวิจัย

ไปใช้ในการพัฒนาบุคลากร ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาสระแก้ว โดยใช้เทคนิคการทำวิสัยทัศน์ร่วม (Shared vision) กับบุคลากรทุกคน ได้วิสัยทัศน์ร่วมในการทำงานดังนี้ “ภายในปี พ.ศ. 2555 ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาสระแก้วเป็นแหล่งการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่มีการพัฒนาองค์กรให้ทำงานเป็นทีมร่วมกับภูมิปัญญาท้องถิ่นและภาคีเครือข่ายด้วยกัลยาณมิตร” เริ่มใช้วิสัยทัศน์นี้ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2551 ถึงปัจจุบัน บุคลากรใช้เทคนิคการเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Dialogue) ใช้เทคนิคบันทึกคำสำคัญด้วยแผนภูมิความคิด ( Mind mapping) และเผยแพร่ให้กับกลุ่มเป้าหมายครู กศน. นักศึกษา กศน. ในภาคตะวันออกที่เข้าค่ายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม นำไปใช้ในการปฏิบัติงานของตน ส่งผลให้ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาสระแก้ว ได้รับพิจารณาคัดเลือกรับโล่รางวัลสถานศึกษาขึ้นตรงดีเด่น ปี พ.ศ. 2552 จาก สำนักงาน กศน. สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ

แนวคิดในการพัฒนาต่อไป
ศึกษาซ้ำถึงลักษณะการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ที่มีความคงทน และลักษณะการพัฒนาที่ปรากฏอย่างไม่หยุดนิ่ง (Dynamic) ขององค์กรต่อไป




บรรณานุกรม


ปัญญา วารปรีดี (2550). การพัฒนาระบบการบริหารจัดการในการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ของ
สถานศึกษา สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน. ภาคนิพนธ์ ค.ม. (การบริหาร
การศึกษา) พระนครศรีอยุธยา : บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา.
ถ่ายเอกสาร
ปัญญา วารปรีดี (2010). พลวัตการบริหารจัดการองค์กร (Online). Available :
http://padupacamp2.blogspot.com/

รายชื่อหนังสือที่เขียนโดยนายปัญญา วารปรีดี


1. บันทึกวิถีวัฒนธรรมและการดำรงอยู่ของไทยพวนอำเภอปากพลี พ.ศ.2550
2. ธรรมชาติกลางฤดูฝน ณ อุทยานแห่งชาติตาพระยา มิถุนายน 2552
3. บันทึกธรรมชาติเล่มแรก
4. เส้นทางธรรมชาติสู่วิถีวัฒนธรรม
5. พลวัตการบริหารการจัดการองค์กรด้วยสมองสองมือ
6. การพัฒนาระบบการบริหารจัดการในการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ของสถานศึกษาสังกัดสำนัก
บริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน
7. การศึกษาการมีส่วนร่วมของผู้นำท้องถิ่นในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจังหวัดนครนายก พ.ศ.2538