Thursday, November 04, 2010

ผู้บริหารคือผู้นำการเสวนา

คำว่า “เสวนา” ในที่นี้ต่างจากคำว่า “สนทนา” ถึงแม้ว่าคำทั้งสองจะมาจากภาษาอังกฤษ คำเดียวกันคือ Dialogue ความหมายของการสนทนานั้น หมายถึงการพูดคุยกันธรรมดาพูดแล้วก็ผ่านไป ส่วนความหมายของคำว่า เสวนา (Dialogue) เดวิด โบห์ม (David bohm) นักฟิสิกส์สายควอนตัม(Quantum) ชาวอเมริกา ผู้มีความเชื่อว่า การเสวนาเป็นรูปแบบหนึ่งของการเยียวยาทางสังคม ได้ให้ความหมายว่า “การเสวนาเป็นถ้อยคำที่พูดคุยแล้วไหลอยู่ท่ามกลางตัวเราและคนอื่น ๆ ในวงเสวนา จนทำให้เกิดความเข้าใจสิ่งใหม่ ๆ อย่างสร้างสรรค์ ในวงเสวนาพูดคุยนั้นไม่มีใครพยายามที่จะให้ประเด็นของตนถูกต้องและชนะ แต่ทุกคนเป็นผู้ชนะร่วมกันผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม” นอกจากการพูดคุยแล้วการเสวนายังมีการจดบันทึกสรุปประเด็นสำคัญของการพูดคุย การจดบันทึกนิยมจดบันทึกในรูปแบบแผนภูมิความคิด (Mind Mapping) เพราะการจดบันทึกด้วยแผนภูมิความคิด เป็นการจดเฉพาะคำสำคัญ (Keyword) จึงจดได้มากในพื้นที่น้อย เมื่อมีเส้นโยงประกอบทำให้ผู้ร่วมเสวนาเห็นคำสำคัญ ที่ถูกสกัดจาการพูดคุยกันได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เงื่อนไขร่วมกันของวงเสวนามีเพียง 3 ประการ ประการแรก ในวงเสวนานั้นหยิบยกมาเพียงเรื่องหรือประเด็น (Issue) มาพูดคุยไม่มีทางเลือกใด ๆ ประการที่สอง ในวงเสวนาพูดคุยทุกคนต้องยอมฟังความคิดเห็นและเหตุผลของกันและกันด้วยความเคารพ ประการสุดท้าย ในวงเสวนาพูดคุยทุกคนต้องเท่าเทียมกัน (ไม่มีตำแหน่งหัวโขนใด ๆ)
เงื่อนไขทั้งสามประการจะทำให้การเสวนาหรือการ Dialogue บรรลุวัตถุประสงค์ของการพูดคุยอย่างมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
ผู้บริหารควรต้องเป็นผู้นำการเสวนาเอง ด้วยเงื่อนไขของการเสวนา ทำให้ผู้บริหารเป็นผู้รับฟังและผู้บริหารได้ลดตนเองลงเสมอเท่าเทียมผู้ร่วมวงเสวนา เป็นการลดทิฐิ อัตตาตัวตน ทำให้ผู้บริหารมีความอ่อนน้อมถ่อมตน “มีความถ่อมตน” เป็นมงคลหนึ่งคือมงคลที่ 23 ของมงคลชีวิตซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์โปรดสัตว์ทั้งหลายมากว่า 2550 ปี แล้ว

No comments: