Wednesday, July 18, 2012

กฎแห่งกรรม




ความหมายของคำว่า กรรม หมายถึง การกระทำ ทั้งทำดี ทำชั่ว ล้วนแล้วแต่เป็นกรรมทั้งสิ้น ถ้าทำดีถือว่ากรรมดี ถ้าทำชั่วถือว่ากรรมชั่ว กรรมดีทั้งหลายล้วนแล้วแต่บุญ กรรมชั่วทั้งหลายคือบาป เราอาจสรุปว่า กรรมหรือการกระทำนั้นก่อให้เกิดทั้งบุญและบาป
     ในทางพุทธศาสนา มนุษย์ต่างเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร เกิดตามบุญตามบาปที่ทำไปในอดีตชาติ ถ้าเกิดตามแรงบุญชีวิตย่อมได้รับทั้ง ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข  ถ้าเกิดตามแรงบาปก็พบพาลกับการ เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ นั่นคือความจริงแท้แน่นอน สิ่งนั้นเราแก้ไขไม่ได้ในชาตินี้ เพราะเป็นเรื่องของอดีตชาติที่ก่อไว้
      อย่างไรก็ตามการดำเนินชีวิตของเราที่เหลืออยู่ไปจนสิ้นอายุขัย เราสามารถเลือกเดินทางได้ว่าจะไปในเส้นทางใด เส้นทางกรรมดีคือบุญ หรือ เลือกเส้นทางกรรมชั่วคือบาป เลือกเอาเถิด
  

Thursday, May 31, 2012

ขุนนางขาดความสามัคคี ประชาชีแตกแยก ชาติบ้านเมืองล่มสลาย



ประวัติศาสตร์โลก ทุกบันทึกเหตุการณ์ของมหานครที่ล่มสลาย มีเหตุการณ์สองเหตุการณ์อยู่ด้วย คือ เหตุใหญ่ ผู้บริหารผู้ปกครองมหานครขาดความสามัคคี ด้วยกิเลสที่พอกหนาเกาะกุมจิตใจ ทั้ง ความโลภ (อยากได้ อยากเป็น ไม่อยากเป็น) ความโกรธ ความหลง จนหูตาบอดมัว ทำการแบ่งแยกประชาชนเป็นฝักเป็นฝ่ายทุกหัวระแหง  เหตุต่อเนื่องต่อมา ประชาชนแตกแยกไปเป็นพวก กลุ่มโน้น กลุ่มนี้ ทะเลาะเบาะแว้งโดยถือพวก ถือกลุ่มของตน
  สุดท้ายมหานครที่เคยยิ่งใหญ่ ล่มสลายแล้ว......มีใครได้อะไรจากการล่มสลาย...สะใจไหมละ...
ไก่ในสุ่ม เอย

Thursday, May 24, 2012

คิดเพื่อประเทืองปัญญา




            เคยมีคำถาม ถามตัวเองว่า ทำไมดอกบัว จึงเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาอย่างแนบแน่น แล้วก็นึกหาคำตอบไปต่างๆ นาๆ  สุดท้ายยังไม่ได้สืบค้นและไม่ได้สรุปคำตอบ  ว่าเพราะอะไรกันแน่

          วันหนึ่งในวันที่ทำงานหนัก  ช่วงพักสายตาไปยืนอยู่ริมหน้าต่าง  มองลงไปในสระบัวหลวง  มองผ่านๆ มองไม่ได้ตั้งใจ กลับพบเห็นความเร้นลับของบัวหลวง ทุกก้านบัวที่ชูใบ ในสระทั้งสระนับแสนๆ ใบ  ไม่มีใบใดที่สูงเสมอกันเลย  ความเป็นจริงที่เป็นไปของใบบัว ก้านบัว ดอกบัว ทำให้นึกย้อนไปถึงพระพุทธองค์  ท่านคงเห็นความต่างของมนุษย์ทุกผู้ทุกคน ที่ไม่มีความเหมือนกัน  ไม่เท่าเทียมกัน  เช่นดังก้านของบัวหลวงที่ชูก้าน ชูใบทั้งหลาย

          พระพุทธองค์ จึงเปรียบเทียบผู้คนเป็นบัวสี่เหล่า และเลือกสอนธรรม  ในชั้นความยากง่ายที่ต่างกัน   ในองค์กรใดๆ ก็ตาม ทุกคนในองค์กรย่อมมีความแตกต่าง  ความต่างทำให้บางอย่างไม่ราบรื่น  หากเราเข้าใจเช่นนี้  การทำงานก็ทำเช่น สายลม ที่พัดผ่าน ก้านบัว ใบบัว ให้กอบัวสั่นไหวไปทั้งสระฉันนั้นเถอะ

Monday, March 12, 2012

ใครผิด ใครรับกรรม



            เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้  เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในแคมป์ของคนรับจ้างตัดไม้ยูคาลิปตัสแห่งหนึ่งในจังหวัดสระแก้ว  เวลาประมาณสามทุ่ม  หลังจากเหน็ดเหนื่อยจากการตัดไม้แบกไม้ขึ้นรถสิบล้อ  ทุกคนต่างเข้านอนในเพิงพักชั่วคราว  ที่มีมุ้งเพื่อกันยุง  เกือบเงียบสงัดแล้ว  เสียงเอะอะดังขึ้นจากมุ้งหลังหนึ่ง ตะขาบตัวเบ้อเร่อกัดนิ้วมือผมผ่านมุ้ง  ผู้ถูกกัดสะบัดตะขาบไต่หนีเข้ากองไม้ไปได้  ทิ้งความเจ็บปวดไว้กับผู้ถูกกัด  เพื่อนร่วมแคมป์ตื่นมาดู  มีผู้รู้ให้ความเห็นว่า “ถูกตะขาบกัดต้องหาคางคกมาต้ม  เอาผ้าคลุมตัวผู้ถูกกัด  โดยให้น้ำคางคกเดือดๆ อยู่ในผ้าคลุม  แล้วจะหายปวด  ทุกคนต่างไปค้นหาคางคกได้ 1 ตัว นำคางคกมาต้ม ทำตามกรรมวิธีที่ผู้รู้บอก  ผลคือ ผู้ถูกตะขาบกัดร้องโอดครวญถึงเช้าไม่หายปวด  สรุปว่ายาคางคกไม่ได้ผล
            เรามาช่วยตัดสินกันหน่อยว่า  ใครผิด  ใครรับกรรม  ตัวละครของเรื่องจริงมี 5 ตัว คือ
1.      ตะขาบ
2.      คางคก
3.      ผู้ถูกกัด
4.      ผู้รู้วิธีแก้พิษ
5.      เพื่อนผู้ค้นหาคางคกมาทำยา