Wednesday, December 08, 2010

การบริหารงานเป็นโครงการ (Project Management)

งานใดใดที่ถูกวางแผนเป็นโครงการ แสดงว่างานนั้นมีระบบของงานอยู่ในระดับที่เชื่อถือได้ ว่างานน่าจะมีประสิทธิภาพประสิทธิผล เพราะผู้ปฏิบัติเข้าใจรายละเอียดตั้งแต่ ชื่อโครงการ ความสอดคล้องกับประเด็นยุทธศาสตร์ สอดคล้องกับนโยบายจุดเน้น ความสัมพันธ์กับมาตรฐานตัวบ่งชี้การประกันคุณภาพ หลักการและเหตุผล วัตถุประสงค์ เป้าหมาย วิธีดำเนินการ งบประมาณ ผู้รับผิดชอบ เครือข่าย โครงการที่เกี่ยวข้อง ผลลัพธ์และการติดตามประเมินผลโครงการ ยิ่งถ้าโครงการนั้น ผู้ปฏิบัติและทีมเป็นผู้เขียนโครงการเอง ความชัดเจนในการปฏิบัติยิ่งเพิ่มขึ้น อาจกล่าวได้ว่าหากมีโครงการหมายถึงงานสำเร็จไปแล้วกึ่งหนึ่งก็ว่าได้
ครั้งหนึ่งผู้เขียนได้รับการแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาแห่งหนึ่ง บุคลากรของสถานศึกษาเป็นผู้มีศักยภาพ แต่ขาดระบบและทิศทางการทำงาน ผู้เขียนได้พาบุคลากรทุกระดับ พูดคุยเสวนา (Dialogue) ค้นหาศักยภาพ ปัญหา ความต้องการ ขององค์กร จากนั้นจัดลำดับความสำคัญร่วมกัน ทุกคนนำประเด็นสำคัญมาเขียนเป็นโครงการและเป็นผู้อำนวยการโครงการ (Project Director) ที่ตนเขียน แต่ละคนชักชวนเพื่อนมาอยู่ในทีมในโครงการของตน เวลาผ่านไปหนึ่งปีงานถูกพัฒนาไปอย่างเห็นได้ชัด
ผลจากการทำงานเป็นทีม ทำงานเป็นโครงการทำให้สถานศึกษาได้รับพิจารณาให้รับโล่รางวัลสถานศึกษาขึ้นตรง ดีเด่น จากสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในปี พ.ศ.2552 คุณค่าของการบริหารงานเป็นโครงการ (Project Management) เป็นคุณค่าที่น่าสนใจน่าศึกษา

Tuesday, December 07, 2010

ความรู้บวกกับความรัก

ช่วงเดือนธันวาคม ปี 2553 ผู้เขียนมีโอกาสพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กับคุณศิวะพงศ์ นฤบาล นักวิชาการผู้ทรงความรู้เรื่องข้าว ของศูนย์วิจัยข้าวแม่ฮ่องสอน คุณศิวะพงศ์ ฝังตัวอยู่ที่อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน มากว่า 20 ปี ซึมซับความรู้สึกนึกคิด ความรู้ ความรัก ของกลุ่มชนท้องถิ่นไว้อย่างเต็มเปี่ยม ช่วงหนึ่งของการสนทนาคุณศิวะพงศ์กล่าวว่า “ผมใช้หลักการทำงานกับกลุ่มชนที่หลากหลายเผ่าในถิ่นนี้คือ ความรู้บวกกับความรักครับ” คุณศิวะพงศ์ ขยายคำพูดไว้อย่างน่าสนใจยิ่งว่า “ความรู้ในความหมายของผมหมายถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ความรู้ทางวิชาการที่เราได้เรียนมาบางครั้งเป็นความรู้ที่นำมาจากตำราหรือการค้นพบของผู้อื่น ซึ่งต่างบริบทพื้นที่ ต่างทวีป อาจนำมาใช้ในบ้านเราไม่ได้ทั้งหมด ส่วนความรู้ของภูมิรู้ของกลุ่มชนในท้องถิ่นเขาสะสมมานานหลายชั่วอายุคนแล้ว และก็เหมาะสมกับพื้นที่แต่ละแห่งแต่ละจุด หากเรายอมรับตรงนี้ได้ การแบ่งปันองค์ความรู้ซึ่งกันและกันจึงมีประโยชน์ เพราะเกิดการแลกเปลี่ยนและยอมรับซึ่งกันและกัน ต่างคนต่างได้ จึงเป็นความหมายของคำว่า “ความรู้” อย่างแท้จริงของผมครับ ส่วนคำว่าความรักนั้น ยิ่งละเอียดกว่าอีกมากเลยครับ ความรักหมายถึงการกลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งกับเขา เข้าใจเขา ยอมรับเขาอย่างจริงใจ ซื่อตรง เคารพความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน ช่วยเหลือแบ่งปันเอื้ออาทร สิ่งต่าง ๆ ที่ผมเล่ามา มันทำให้ชีวิตผมมีความสุขกับการทำงานมาก แม้จะลำบากในเรื่องพื้นที่การติดต่อเดินทาง แต่เป็นความสุขใจที่ได้ทำงานสนองรับใช้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เกี่ยวกับการวิจัยพันธุ์ข้าวที่แม่ฮ่องสอนนี้ครับ”
คำพูดที่คุณศิวะพงศ์ นฤบาล บอกเล่าทำให้ผู้เขียนประทับใจมาก ๆ เป็นคำคม ๆ จึงนำมาเขียนบอกเล่าเพื่อน ๆ นักบริหารที่ดี เพื่อนำทั้ง “ความรู้บวกกับความรัก” ไปใช้ในการทำงาน

ความรู้ฝังแน่นในตน (Tacit Knowledge)

“ความรู้” มีความหมายสองนัย นัยแรกเป็นความรู้ภายนอกทั่วไป (Explicit Knowledge) หมายถึงความรู้ที่ได้จาก การได้เห็น ได้ศึกษา ได้อ่าน ได้ฟัง หรืออาจกล่าวว่าเป็นความรู้จากการสัมผัสด้วยประสาทภายนอก นัยที่สองของความรู้ เป็นความรู้ที่ฝังแน่นในตน (Tacit Knowledge) ความรู้ชนิดนี้เป็นความรู้ที่สำคัญยิ่ง บุคคลในชาติที่เจริญทั้งหลาย สะสมความรู้ที่ฝังแน่นในตนไว้มาก เขาผ่านการเรียนรู้ ศึกษา ทดลอง หาความจริง ซ้ำๆ จนเชื่อถือได้ ความรู้ชนิดนี้นำมาพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ให้ดียิ่งขึ้นได้
คนไทยก็มีความรู้ฝังแน่นในตน ที่เรียกว่าองค์ความรู้ของภูมิปัญญา เป็นความรู้ที่ทดลองทำ ค้นหาองค์ความรู้ที่ถูกต้องแม่นยำที่สุด ในการประกอบอาชีพ หรือจากสิ่งที่ทำที่ชอบ แต่คนไทยไม่นิยมถ่ายทอดความรู้อย่างกว้างขวาง จึงทำให้องค์ความรู้สูญหายไป เมื่อภูมิรู้ภูมิปัญญาคนนั้นเสียชีวิต
ผู้เขียนมีความเห็นว่าความรู้ฝังแน่นในตนที่เป็นองค์ความรู้ ควรได้มีการเขียนบันทึกไว้เป็นมรดกของชาติ เป็นลิขสิทธิ์ของครอบครัว ซึ่งจะยังประโยชน์ต่ออนุชนอย่างยิ่ง

Thursday, November 25, 2010

เกี่ยวกับผู้เขียน



ปัญญา วารปรีดี เกิด ธันวาคม 2494
การศึกษา กศ.บ.การศึกษาบัณฑิต สาขา เคมี/คณิตศาสตร์
ค.ม.ครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขา การบริหารการศึกษา
การรับราชการ 2519-2530 สอนนักเรียนมัธยมต้น มัธยมปลาย วิชา วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์
2530-2537 ผู้ประสานงาน กศน.อำเภอ
2537-ปัจจุบัน ผู้บริหารสถานศึกษา กศน.ตำแหน่ง หัวหน้าศูนย์ 1 หัวหน้าศูนย์ 2 ผู้อำนวยการ ตามลำดับ
การศึกษาดูงานต่างประเทศ
ประเทศญี่ปุ่น พิพิธภัณฑ์และศูนย์วิทยาศาสตร์
ประเทศออสเตรเลีย การจัดการศึกษาทางไกล
ประเทศสหรัฐอเมริกา เกษตรชีวภาพ ฟาร์มปลอดสารพิษ ภาวะผู้นำ
ประเทศฮ่องกง ภาวะผู้นำ
ประเทศมาเลเซีย/ซาบา ภาวะผู้นำ
ประเทศบรูไน ธรรมชาติและวัฒนธรรม
ประเทศลาว ธรรมชาติและวัฒนธรรมชาติพันธุ์ไทพวน
โล่รางวัลเกียรติยศ
สถานศึกษา กศน.ระดับอำเภอ ดีเด่น พ.ศ.2544
ผู้บริหารสถานศึกษา ระดับอำเภอ ดีเด่น พ.ศ.2550
สถานศึกษาขึ้นตรง สำนักงาน กศน. ดีเด่น พ.ศ.2552

ข้อคิดความคม


ภาษากายแสดงภาวะผู้นำ
ภาษาจิตใจแสดงกัลยาณมิตร
หนึ่งสมองไตร่ตรองระบบคิด
สองมือมุ่งปฏิบัติฝึกฝนทำจริง.
ปัญญา วารปรีดี
Body Language Conveys Leadership
Soul Language Conveys Friendship
One Mind Contemplates Systematic Thinking
Two Hands Concentrate On Action
panya warapreedee

Wednesday, November 24, 2010

โล่รางวัลนั้นสำคัญไฉน

โล่รางวัลไม่สำคัญที่ราคาของโล่ แต่สำคัญที่คุณค่าของโล่ เพราะโล่เป็นรางวัลของความสำเร็จ องค์กรหรือบุคคลไหน ทีมใดได้โล่รางวัล หมายความว่าเขาเหล่านั้นได้ทุ่มเทการทำงานอย่างหนัก ทำงานสำเร็จลุล่วง ทำงานเกิดผลดีเป็นที่ประจักษ์ โล่จึงเป็นเกียรติยศ โล่ยืนยันคุณภาพ โล่สร้างความภาคภูมิใจให้ทุกคน โล่ยังเป็นเครื่องประกาศคุณค่าของคนและองค์กรต่อสาธารณชน โล่แสดงถึงพัฒนาการของบุคคลขององค์กร โล่แสดงความดี ความสามัคคี การช่วยเหลือเกื้อกูลทำงานเป็นทีม หากถามว่าโล่รางวัลนั้นสำคัญไฉน...ทุกคนที่ได้รับโล่รางวัลโปรดช่วยเติมความสำคัญของโล่รางวัลบนพื้นที่แห่งนี้ ...............................................................นี่แหละคุณค่าของโล่รางวัล.

แบบอย่างที่ดีควรปฏิบัติตาม (Best Practice)

มาสโลว์ (Maslow) พูดถึงทฤษฎีความต้องการของมนุษย์ ผู้เขียนชอบทฤษฎีความต้องการของมนุษย์นี้มาก เพราะมนุษย์มีชีวิต มีการเคลื่อนไหวมนุษย์จึงมีความต้องการ อาจมีบางคนค้านว่า ความต้องการทำให้มนุษย์มีความโลภ ต้องยึดทฤษฎีความพอเพียงซิจึงจะเหมาะสมทำให้ไม่มีความละโมบ แม้กะนั้นก็ยังเป็นความต้องการอยู่ดี คือความต้องการอย่างพอเพียงไงละ สิ่งที่ผู้เขียนอยากเขียนต่อไปนี้เป็นความต้องการ ขั้นความสำเร็จตามทฤษฏีของมาสโลว์ สำเร็จจนเป็นแบบอย่างที่ดีที่ควรปฏิบัติตาม ภาษาอังกฤษเรียกความสำเร็จนี้ว่า สำเร็จจนเป็น Best Practice
อะไรจึงจะเรียกว่า Best Practice งานที่เป็นแบบอย่างที่ดีให้ผู้อื่นนำไปทำตามได้ น่าจะเป็นงานที่วิเคราะห์ผ่านคุณค่าต่อไปนี้แล้ว และปฏิบัติจนสำเร็จบังเกิดผลลัพธ์ที่ดี โดยเริ่มวิเคราะห์จาก
ลำดับแรก งานสนองตอบความต้องการของกลุ่มเป้าหมายในวงกว้าง ให้กลุ่มเป้าหมายมีการพัฒนาไปในทางที่ดียิ่งขึ้นได้
ลำดับที่สอง งานสอดคล้องกับบริบทแวดล้อม กลมกลืนกับธรรมชาติ วัฒนธรรมของท้องถิ่นชุมชน
ลำดับที่สาม บุคลากรในองค์การพร้อมเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ (Learning) แสวงหาความรู้ตลอดเวลา
ลำดับที่สี่ องค์กรมีลักษณะเป็นพลวัต (Dynamic) มีการพัฒนาเคลื่อนไหวอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
ลำดับที่ห้า งานมีระบบแบบแผน มีขั้นตอนการทำงานที่ชัดเจนที่สามารถเลียนแบบได้
เมื่อวิเคราะห์ทั้งห้าลำดับแล้ว งานนั้นน่าจะเป็น Best Practice ได้

Tuesday, November 23, 2010

ยกย่อง ยอมรับการเป็นส่วนหนึ่งของทีม

ภาพจิ๊กซอ (Jigsaw) เป็นรูปภาพที่เกิดจากการนำส่วนประกอบชิ้นเล็ก ๆ มาต่อกัน จนเป็นภาพที่สมบูรณ์ หากมีชิ้นส่วนใดชิ้นหนึ่งหายไป ภาพจิ๊กซอนั้นดูจะไร้คุณค่า เพราะทำให้ภาพมีองค์ประกอบ ไม่ครบถ้วน ถ้าจะเปรียบเทียบบุคลากรในองค์กรหนึ่งเป็นเหมือนชิ้นเล็กๆ ของจิ๊กซอ แต่ละคนเป็นแต่ละชิ้นองค์กรใหญ่จิ๊กซอก็มาก องค์กรเล็กจิ๊กซอก็ลดหลั่นจำนวนกันไป ผู้เขียนเคยจินตนาการองค์กรของตน เป็นภาพดอกลีลาวดีสีขาวพลิ้ว มีเกสรสีเหลือง ใบสีเขียว ก้านดอกมีสีน้ำตาลอ่อน เมื่อภาพดังกล่าวแยกเป็นจิ๊กซอ ชิ้นเล็ก ๆ แล้วทุกคนก็คือหนึ่งชิ้น ทุกคนต่างก็เป็นชิ้นที่สำคัญทั้งสิ้น ขาดคนใดคนหนึ่งไปไม่ได้เลย ตัวผู้เขียนซึ่งเป็นผู้บริหารก็คือชิ้นหนึ่งเท่านั้น ทุกคนจึงเป็นคนสำคัญในการแสดงบทบาทในภาพนั้น หากทุกคนแสดงบท ของตนในภาพได้ชัดเจน ใครอยู่ในตำแหน่งสีขาวของกลีบดอกก็ขาวจริง ใครอยู่ในตำแหน่งเกสรสีเหลือง ก็เหลืองจริง ภาพลีลาวดีสีขาวก็คงเป็นภาพสีที่สวยงามสมบูรณ์ แต่ถ้าจิ๊กซอแต่ละชิ้นไม่ได้แสดงความสดใสอย่างที่ควรเป็น ภาพลีลาวดีก็เป็นเพียงภาพดอกไม้ที่หม่นหมอง ใบ ก้าน สีก็คงดำดำด่างด่าง ไร้ชีวิตชีวา องค์กรไหนๆก็คงเป็นเช่นกัน
ฉะนั้น สำนึกของการเป็นส่วนหนึ่งของทีม เป็นสำนึกที่สำคัญยิ่ง เพราะเป็นสำนึกของคุณธรรม ความรับผิดชอบ ความสามัคคี ความเสมอภาค การเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร ของสังคม ของประเทศชาติและมนุษยชาติ

Monday, November 22, 2010

ผู้บริหารแบบ Two in One

ประสบการณ์ของการเป็นผู้บริหารองค์กรขนาดเล็ก ที่มีบุคลากร 20-30 คน เป็นเวลากว่า 17 ปี และยังได้เฝ้ามองการบริหารจัดการของเพื่อนผู้บริหารด้วยกันที่มีฝีมือ ซึ่งได้รับการยกย่องว่า ผลงานเป็นเยี่ยมผู้ใต้บังคับบัญชารักและชื่นชม ผู้บริหารเหล่านั้นมักมีคุณลักษณะคล้ายคลึงกัน คือ การเป็นทั้งนักบริหารและนักวิชาการอยู่ในผู้บริหารคนเดียวกัน อาจเรียกผู้บริหารชั้นเยี่ยมนี้ว่า “ผู้บริหาร two in one” ลักษณะที่ปรากฏในการบริหารองค์กรของผู้บริหารเหล่านั้น ตัวอย่างเช่น
- เป็นผู้บริหารที่มีคุณธรรม มีเมตตา มีความเอื้ออาทรเป็นกัลยาณมิตร
- เป็นผู้บริหารที่มีระบบการบริหาร แม่น ทฤษฎี กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ วินัย จรรยาบรรณ เพื่อให้คำปรึกษาช่วยเหลือผู้ปฎิบัติได้
- เป็นผู้บริหารที่เป็นนักวิชาการ เข้าใจขั้นตอน กระบวนการวิจัย ใช้ผลงานวิจัยเป็น ทำงานวิจัยได้
- เป็นผู้บริหารที่ประยุกต์บูรณาการ องค์ความรู้ โดยใช้ทั้งศาสตร์และศิลปะในการบริหารจัดการองค์กร
ผู้เขียนได้พยายามฝึกตนที่จะเป็นผู้บริหารองค์กรแบบ two in one ตลอดมา ท่านว่าน่าสนใจไหมล่ะ

คิดแบบวิเคราะห์(Analysis)มองแบบองค์รวม(Holistic)

คำว่า “บุญ” ผู้เขียนเชื่อว่าทุกคนอยากได้ เพราะบุญเป็นบ่อแห่งความสุข บุญก่อให้เกิดสุขทั้งกาย ทั้งใจ บุญทำให้หน้าตาผ่องใส จิตใจดีงาม เมื่อเราได้เห็นผู้คนได้ทรัพย์ก้อนโต ได้ยศ ได้ตำแหน่งสูงขึ้น เราก็มัก ได้ยินประโยคหนึ่งตามมาเสมอ คือ เขามีบุญมีวาสนาเขาจึงได้สิ่งนั้น
บุญในทางพุทธศาสนา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์โปรดสอนว่า บุญทำได้หลายทาง และบุญให้อานิสงส์ต่างกัน บุญอย่างที่หนึ่ง บุญที่เกิดจากการทำทาน แบ่งปันทรัพย์สิ่งของ ข้าวปลาอาหาร จุนเจือผู้ยากไร้ถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ บุญจากการทำทาน อานิสงส์คือทำให้เรามีทรัพย์ใช้จ่ายในภพภาคหน้าหรือถ้ามองภพปัจจุบัน หากเรามีทรัพย์สมบัติมากแสดงถึงการได้ทำทานของเราในภพชาติที่ผ่านมา บุญอย่างที่สองบุญที่เกิดจาก การรักษาศีล โดยมีศีลห้าเป็นเบื้องต้น คือ เว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นจากการลักทรัพย์ เว้นจากการประพฤติผิดในกาม เว้นจากการพูดเท็จและเว้นจากการดื่มเครื่องดองของเมา อานิสงส์ของบุญที่เกิดจากการรักษาศีล ทำให้เรามีรูปร่างสง่างาม สมส่วน ผิวพรรณผ่องใสในภพภาคหน้า ภพปัจจุบันใครมีรูปเป็นทรัพย์แสดงถึงบุคคลนั้นเป็นผู้รักษาศีลมาดีแต่ภพชาติก่อน ๆ บุญอย่างที่สาม บุญจากการสวดมนต์ การทำสมาธิอย่างสม่ำเสมอ อานิสงส์บุญที่เกิดจากการทำสมาธิ ทำให้เป็นบุคคลมีปัญญาเป็นเลิศ ฉลาดแยบคายในภายภาคหน้า ถ้าภพนี้เป็นผู้ฉลาด อัจฉริยะ แสดงถึงการได้ฝึกสมาธิมาอย่างดีในภพชาติก่อน
สิ่งที่เขียนมาทั้งหมดอาจเป็นตัวอย่างให้เห็นชัดเจน โดยการเปรียบเทียบคำว่า “บุญ” เป็นการมองแบบองค์รวม (Holistic) ส่วนการทำทาน การรักษาศีล การสวดมนต์ทำสมาธิ เป็นการคิดแบบวิเคราะห์ (Analysis)
สรุปโดยรวมว่า ผู้นำ ผู้บริหาร ควรคิดแบบวิเคราะห์มองแบบองค์รวม

Friday, November 19, 2010

ลีลาวดีกลีบเบาพลิ้วขาวสะอาดที่สวนประดู่ป่า




ขาวสะอาดอ่อนพลิ้วเย็นตา สวยสง่าหายาก ..อยากได้...ดอกไม้สวยแอบซ่อนในพงไพร..ท่องเที่ยวไปจึงได้เห็นเป็นบุญตา.

กระบวนการเรียนรู้ (Learning)

พระโคดมศากยมุนี พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมที่เรียกว่า กาลามสูตร แก่ชาวกาลามะ ณ หมู่บ้านเกสปุตติยนิยม แคว้นโกศล เมื่อครั้งพุทธกาล ไม่ให้เชื่ออย่างงมงายโดยไม่ใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นจริงถึงคุณหรือโทษก่อนเชื่อ โดยกำหนดการอย่าเพิ่งเชื่อไว้ 10 ประการ ได้แก่
1. อย่าเพิ่งเชื่อตามที่ฟังฟังกันมา
2. อย่าเพิ่งเชื่อตามที่ทำต่อต่อกันมา
3. อย่าเพิ่งเชื่อตามคำเล่าลือ
4. อย่าเพิ่งเชื่อโดยอ้างตำรา
5. อย่างเพิ่งเชื่อโดยนึกเดา
6. อย่าเพิ่งเชื่อโดยคาดคะเนเอา
7. อย่าเพิ่งเชื่อโดยนึกคิดตามแนวเหตุผล
8. อย่าเพิ่งเชื่อเพราะถูกกับทฤษฎีของตน
9. อย่าเพิ่งเชื่อเพราะมีรูปลักษณ์ที่ควรเชื่อได้
10. อย่าเพิ่งเชื่อเพราะผู้พูดเป็นครูบาอาจารย์ของตน
เว้นแต่เมื่อใดที่ตนได้ใช้ปัญญา คิดวิเคราะห์ (Critical thinking) ไตร่ตรองโดยแยบคาย(โยนิโสมนสิการ) แล้วว่าสิ่งนั้นเป็นกุศล ผู้คนสรรเสริญ พร้อมด้วยประโยชน์เกื้อกูล ให้เกิดความสุขกับตน และส่วนรวม สิ่งเหล่านั้นจึงถือว่าเป็น กระบวนการเรียนรู้ (Learning)

อ้างอิง http://th.wikipedia.org/wiki

ความหมายของการวางแผน(Planning)

สำหรับองค์กรขนาดเล็กและขนาดกลางที่มีโครงสร้างยังไม่ชัดเจน ปัญหาที่ผู้บริหารพบเสมอ ๆ คือความไม่แน่นอนในเรื่องงบประมาณ บางครั้งได้รับ บางครั้งไม่ได้รับ ด้วยเหตุใดก็ตาม ผู้บริหารที่ปรารถนาให้องค์กรมีการพัฒนามักมองข้ามปัญหาเหล่านี้ กลับให้ความสำคัญความสนใจการวางแผนโดยไม่มีเงินเป็นปัจจัยป้อน (Input) วิธีการวางแผนที่ผู้เขียนเคยใช้ ใช้ได้ทั้งการมีเงินเป็นปัจจัยและไม่มีเงินเป็นปัจจัยในการวางแผน
โดยพื้นฐานของมนุษย์ทุกคนมีขั้นตอนของความต้องการ ตามทฤษฎีของ มาสโลว์ (Maslow) ซึ่งนักบริหารหรือผู้นำเข้าใจดีอยู่แล้ว ฉะนั้น หากผู้นำปรารถนาให้เกิดบางสิ่งบางอย่างขึ้นในองค์กร ผู้นำสามารถเริ่มต้นด้วยการเป็น Facilitator เปิดเวทีเสวนา (Dialogue) พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เปิดประเด็นการเสวนาพูดคุย ประเด็นหลักที่นำไปสู่การวางแผนที่ดี โดยทั่วไปมีสามประเด็นได้แก่ ศักยภาพขององค์กรและชุมชน ความคาดหวังต้องการขององค์กรและชุมชน และปัญหาอุปสรรคขององค์กร หากบุคลากรทุกคนในองค์กรได้ร่วมเวทีพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดของกันและกัน ได้ถ่ายโอนผ่านการรับรู้ของทีม การจัดลำดับความสำคัญในประเด็นต่าง ๆ ของการพูดคุยก็ทำได้ง่ายขึ้น เมื่อศักยภาพความต้องการและปัญหาถูกจัดลำดับความสำคัญโดยทีมแล้ว ทุกคนจึงมีส่วนร่วมกันวางแผนงานโครงการ บางโครงการอาจไม่จำเป็นต้องใช้เงินงบประมาณ บางโครงการอาจเพียงแต่ขอความร่วมมือกับเครือข่ายเท่านั้น
การวางแผนงานลักษณะนี้ผู้เขียนเคยมีประสบการณ์ในการทำงาน ระดับอำเภอ ทำให้องค์กรระดับอำเภอได้รับรางวัลสถานศึกษา ดีเด่น ในปี พ.ศ.2544 และใช้วิธีการนี้ร่วมกับประชาชน ทำแผนแม่บทชุมชนครบทุกตำบล ทุกหมู่บ้าน ในอำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายกเพื่อใช้เป็นแผนแม่บทในเบื้องต้นเช่นกัน

Thursday, November 18, 2010

จินตนาการที่ต้องบอกกล่าว

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) นักวิทยาศาสตร์เอกของโลก ได้กล่าวประโยคสำคัญไว้ว่า Imagination is more important than knowledge แปลเป็นภาษาไทยว่า จินตนาการอยู่เหนือความรู้ ทำไม ไอน์สไตน์จึงกล่าวประโยคสำคัญเช่นนี้ คนไม่ธรรมดาย่อมกล่าวคำที่ไม่ธรรมดา ไอน์สไตน์ให้ความสำคัญของจินตนาการว่าอยู่เหนือความรู้ ตามความเข้าใจของผู้เขียน ความหมายของคำกล่าวนี้เหมือนได้บอกว่าต้องนำความรู้มากมายหลายแขนงมาทำให้จินตนาการนั้นเป็นจริง การเป็นผู้บริหารหรือผู้นำที่ดี ควรเป็นผู้ที่มีจินตนาการในสิ่งที่ต้องการ ให้เป็น ให้เกิด และจินตนาการนั้นไม่ควรอยู่กับผู้บริหารหรือผู้นำเท่านั้น จินตนาการควรบอกกล่าวให้ทุกคนในองค์กรรับรู้ เพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วมสร้างจินตนาการให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นได้จริง
ครั้งหนึ่งผู้เขียนต้องการทำหนังสือเกี่ยวกับธรรมชาติวิทยา ซึ่งเป็นการศึกษาสำรวจแหล่งเรียนรู้ที่เป็นอุทยานแห่งชาติแห่งหนึ่ง เพื่อนำมาเขียนบอกเล่าความรู้ที่พบเห็นในอุทยานแห่งชาตินั้น ผู้เขียนบอกกับทุกคนในทีมว่า “ เราจะทำหนังสือเล่มที่ดีที่สุด สวยที่สุด ที่องค์กรของเราไม่เคยทำมาก่อน ” และบอกประโยคนี้กับทุกคนที่เกี่ยวข้อง บอกผู้รับจ้าง บอกกราฟิกดีไซน์ ด้วยประโยคดังกล่าว สุดท้ายองค์กรของเราได้หนังสือที่สวยทั้งรูปภาพ มีคุณค่าด้านองค์ความรู้ ทุกคนที่ได้เห็นหนังสือ ต่างชื่นชม ชอบหนังสือ กล่าวว่า สวยอ่านง่ายสบายตาดี
ที่ยกตัวอย่างมาเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของ “จินตนาการที่ต้องบอกกล่าว”

คุณคือ Master Key ขององค์กร

มาสเตอร์ คีย์ (Master Key) เป็นลูกกุญแจดอกหนึ่ง ในชุดที่สามารถเปิดแม่กุญแจได้ทุกตัวที่อยู่ในชุดเดียวกัน ลูกกุญแจดอกนี้จึงถูกเรียกว่า “ลูกกุญแจพ่อบ้าน (Master Key) ”ผู้นำหรือผู้บริหารที่มีภาวะผู้นำควรมีคุณสมบัติเป็นดั่งมาสเตอร์คีย์ที่มองผ่านทะลุทุกจุดขององค์กรมองเห็นบุคลากรในองค์กรว่า มีจุดแข็งในเรื่องใดเพื่อให้สนับสนุนส่งเสริม จัดเวทีให้แสดงออก มีจุดอ่อนในเรื่องใดให้เสริมเติมให้เต็ม เพื่อความพร้อมในการปฏิบัติหน้าที่ มองบริบทแวดล้อมของที่ตั้งว่ามีอะไรเป็นจุดเด่น เป็นต้นทุนที่ทำให้มีโอกาสเหนือกว่าองค์กรอื่น มองเห็นแหล่งเรียนรู้ที่สามารถเป็นพันธมิตรร่วมในการให้การศึกษากับกลุ่มเป้าหมายได้ มองและค้นหาภูมิรู้ ภูมิปัญญา ที่สามารถเป็นเครือข่ายทำงานร่วมกันให้กลุ่มเป้าหมายและสาธารณชน
ขณะเดียวกัน Master Key ก็ต้องเป็นเหล็กกล้าที่แข็งแกร่ง หมายความถึง ผู้นำ ผู้บริหารต้องมีสุขภาพพลานามัยที่แข็งแรง รักษาสุขภาพ หาก Master Key เป็นเพียงลูกกุญแจเหล็กหล่อที่เปราะบางความคาดหวังที่อยากเห็นองค์กรมีพัฒนาการไปถึงระดับ พลวัต (Dynamic) ซึ่งผู้เขียนอยากจะเรียกองค์กรประเภทนี้ว่า องค์กรพายุหมุนที่มีความเคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่ง คงเกิดขึ้นไม่ได้
Master Key จึงต้องประกอบด้วย ร่างกาย จิตใจ สติปัญญา จินตนาการความใฝ่ฝัน ความสามารถที่เพียบพร้อม

การเป็นผู้แสวงหาความรู้อยู่เสมอ(Learner)

ผู้บริหารองค์กรไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ คุณสมบัติของผู้บริหารที่แสดงภาวะผู้นำที่ดีเขาควรเป็นผู้แสวงหาความรู้อยู่เสมอ ปีเตอร์ เซงกี้ กล่าวไว้เช่นนั้น การเป็น Learner เป็นสิ่งจำเป็น โลกเรามีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลามีสิ่งใหม่เกิดขึ้นเสมอ หากองค์กรไม่มีพลวัตขับเคลื่อนพร้อมรับสิ่งใหม่ ในไม่ช้าองค์กรนั้นก็กลายเป็นองค์กรที่ตายแล้ว การเรียนรู้สิ่งใหม่ของผู้นำและทีม นอกจากจะมีความหมายถึงการเรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่างจนเป็นนิสัยแห่งการเรียนรู้แล้ว ยังมีความหมายเจาะจงไปถึงการเรียนรู้เทคนิคการบริหารจัดการใหม่ ที่มีการวิจัย ทดลองพัฒนาแล้วบังเกิดผลดีทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีได้ หรือเทคนิคอื่นที่สามารถนำมาเสริมให้การบริหารจัดการองค์กรเกิดประโยชน์ สูงสุด ผู้บริหารและทีมที่มีภาวะผู้นำควรศึกษาเรียนรู้สิ่งนั้น
ลักษณะนิสัยพื้นฐานของผู้นำและทีมที่เป็นผู้แสวงหาความรู้ (Learner) ควรมีลักษณะดังนี้
- อ่อนน้อมถ่อมตนพร้อมเรียนรู้ด้วยความจริงใจ ไม่แสดงความเป็น “ชาล้นถ้วย” ที่เติมไม่ได้อีกแล้ว
- การเป็นผู้ฟังที่ดี (วจนักขโม) รับฟังอย่างตั้งใจ ฟังให้ถึงความลึกของแก่น เพื่อความเข้าใจในศาสตร์นั้น
- เป็นผู้ใช้เหตุและผลในการพิจารณาไตร่ตรองให้ถ่องแท้ ว่าสิ่งที่ศึกษาเรียนรู้นั้นเป็นประโยชน์เป็นกุศลต่อองค์กรจึงเรียนรู้
- นำเทคนิคใหม่ ๆ มาทดลองปฏิบัติร่วมกับทีมเพื่อการค้นพบสิ่งใหม่และพัฒนาเพิ่มเติมเพิ่มขีดความสามารถบุคลากรขององค์กร
- ทำการทบทวนประมวลผล AAR ในสิ่งที่เรียนรู้โดยการทำทั้งทีม ทั้งผู้นำและทีมผู้ปฏิบัติ
- หาเวทีเผยแพร่แบ่งปันเทคนิคที่เรียนรู้ เพื่อให้ทีมมีโอกาสแสดงความสามารถให้ปรากฏต่อสาธารณะ สร้างความภาคภูมิใจในคุณค่าของตน
หากผู้นำและทีมมีลักษณะพื้นฐานเหล่านี้แล้ว ผู้เขียนเชื่อว่าเขามีพื้นฐานที่ดีเป็นเบื้องต้น เขาควรได้ชื่อว่า “เป็นนักเรียนที่ดี” ได้

การเป็นผู้ช่วยเหลือเกื้อกูล(Steward)

ที่จริงแล้วนิสัยคนไทยคุ้นกับคำว่าช่วยเหลือเกื้อกูล ด้วยศาสนาพุทธซึ่งเป็นศาสนาของคนส่วนใหญ่ในประเทศ สอนให้คนไทยเป็นกัลยาณมิตร เป็นมิตรที่ดีงามหรือเป็นเพื่อนแท้ คุณลักษณะของกัลยาณมิตรสามเรื่องในเจ็ดเรื่องที่สอนให้เป็นคนช่วยเหลือเกื้อกูล เริ่มจากกัลยาณมิตรต้องมีเมตตาต่อกัน (ปิโย) กัลยาณมิตรต้องเป็นที่พึ่งที่อาศัยได้ (ครุ) และกัลยาณมิตรต้องเป็นที่ปรึกษาที่ดีได้ (วัตตา) คุณสมบัติของกัลยาณมิตรจึงเป็นคุณสมบัติที่สร้างนิสัยให้เป็นผู้ช่วยเหลือเกื้อกูล เหมือนดั่งชาวต่างชาติผู้ชายที่ทำหน้าที่เป็นสจ๊วต (Steward) บนเครื่องบิน ขณะเดินทางเขาเหล่านั้นจะคอยช่วยเหลือผู้โดยสารทุกคน คอยถามว่าต้องการสิ่งนี้ไหม ต้องการอะไรเพิ่ม ยิ้มแย้มแจ่มใสด้วยความน่ารักด้วยเมตตาต่อผู้โดยสาร เหตุนี้แหละ ปีเตอร์ เซงกี้ จึงกำหนดให้ Steward เป็นองค์ประกอบย่อยของ Leadership ในเรื่ององค์กรแห่งการเรียนรู้
การฝึกตนให้มีความรัก ความเมตตา เอื้ออาทร ต่อเพื่อนมนุษย์ ย่อมทำให้เป็นคนอ่อนโยนให้อภัยในความผิดพลาด ให้โอกาสและเป็นคนที่มีทัศนคติเป็นบวกเสมอ ผู้เขียนเชื่อว่าหากเราฝึกตนได้เช่นนี้น่าจะเป็นผู้นำที่ดีได้แล้ว

Thursday, November 11, 2010

ความเป็นครูเป็นผู้สอน(Teacher)

ความเป็นครู หรือ teacher ในองค์ประกอบย่อยหนึ่ง ของภาวะผู้นำ ซึ่ง ปีเตอร์ เซงกี้ กำหนดไว้ในเรื่อง องค์กรแห่งการเรียนรู้(Learning Organization ) นั้น มิได้มีความหมายเพียงใครก็ได้ที่เรียกครู แต่ความหมายความเป็นครูในที่นี้ หมายถึง ผู้บริหารหรือบุคลากรในทีมงาน ซึ่งผู้นั้นต้องเป็น ผู้รู้จริง ทำเป็น ทำได้ดี มีประสบการณ์ในการปฏิบัติมาก่อน สามารถเป็นผู้นำทำได้ ด้วยเหตุผลที่ว่า หากจะเป็นครูต้องเป็นผู้สอนในเรื่องที่ลึกซึ้งให้เข้าใจได้ ( คัมภีรัญจะ กถัง กัตตา ) ซึ่งเป็นคุณสมบัติหนึ่งของการเป็น กัลยาณมิตรธรรม
ดังตัวอย่าง พระบรมครูผู้ยิ่งใหญ่ของโลก คือ พระโคดมศากยมุนีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก่อนที่พระองค์จะตรัสรู้ ครั้งยังเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ พระองค์ทรงศึกษาเรียนรู้ศาสตร์ทุกแขนงในสมัยนั้นจนแตกฉาน ซึ่งเรียกว่าศึกษาในระดับ ปริยัติ จากนั้นพระองค์ได้ทดลอง ปฏิบัติ ทุกแนวทางที่พระองค์คาดหวังว่าจะบรรลุหนทางสว่างสุดท้ายผลของการปฏิบัติทำให้พระองค์ตรัสรู้ รู้แจ้งแทงตลอดในระดับ ปฏิเวธ พระองค์จึงเป็น พระบรมครูผู้ยิ่งใหญ่ของโลก คำสอนของพระองค์ยังคงอยู่มาถึงปัจจุบัน แม้วันเวลาจะผ่านมากว่า 2550 ปีแล้ว
ผู้เขียนก็เช่นกัน พยายามฝึกตน เรียนรู้ ทดลองปฏิบัติ เพื่อความเป็นครูที่ดี เพื่อการเป็นผู้นำที่ดี ให้สามารถทำงานร่วมกับทีมในลักษณะ “นำทำ” เมื่อบุคลากรในทีมเริ่มทำได้ ผู้นำถอยออกมา “ดูทีมทำ” หากทีมประสบปัญหาก็ให้ “คำปรึกษา” บุคลากรในทีมทุกคนจึงจะพัฒนาขีดความสามารถของตนเพิ่มขึ้นในลักษณะที่เป็นพลวัต(Dynamic) อย่างไม่จบสิ้น ผู้เขียนเชื่อว่าท่านผู้อ่านคงเป็นเช่นกัน

Wednesday, November 10, 2010

การออกแบบงาน(Designer)

คนไทยคุ้นกับคำ ดีไซด์เนอร์ (Designer) มานานแล้ว โดยเข้าใจไปถึงนักดีไซด์ทรงผม นักดีไซด์เสื้อผ้า และเรียกนักดีไซด์ออกแบบเหล่านี้ว่าเป็น ดีไซด์เนอร์ แต่คำว่า Designer ในความหมายของ ปีเตอร์ เซงกี้ เจ้าของทฤษฎีการบริหารจัดการเรื่ององค์กรแห่งการเรียนรู้ (learning Organization) นิยามคำว่า Designer คือ ผู้มีความสามารถออกแบบงานได้ และความหมายของความเป็นผู้ออกแบบงานได้ ยังมีความละเอียดลึกซึ้งกว่าการออกแบบธรรมดา ยกตัวอย่าง นักออกแบบงานชาวญี่ปุ่น ซึ่งสมัครมาเป็นอาสาสมัครอาวุโสทำงานร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ท่านชื่อ NORIAKI MANABE ท่านมีวิธีออกแบบการเรียนรู้ที่น่าสนใจ ลองอ่านรายละเอียดดูซึ่งคัดลอกมาจาก Website http://padupacamp.blogspot.com ความดังนี้
“เป็นเวลาหนึ่งปีที่เฝ้ามองรูปแบบการเรียนรู้ของอาสาสมัครอาวุโสชาวญี่ปุ่น ที่มาช่วยงาน ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาสระแก้ว เพื่ออนุมานไปถึงวิถีความก้าวหน้าการพัฒนาประเทศของเขา พบรูปแบบการเรียนรู้จากการกระทำของเขาสักหนึ่งเรื่อง อาสาสมัครเขาพบว่าศูนย์วิทยาศาสตร์อยู่ในบริบทแวดล้อมที่มีอุทยานแห่งชาติ อันเป็นมรดกโลก คือ อุทยานแห่งชาติปางสีดา และเป็นแหล่งที่มีผีเสื้อชุกชุมน่าศึกษา อาสาสมัครได้ขอบัตรประจำตัวเพื่อแสดงว่าเป็นบุคลากรของศูนย์วิทยาศาสตร์ สำหรับผ่านเข้าเขตอุทยานแห่งชาติในการศึกษาเรียนรู้ และเดินทางไปศึกษาผีเสื้อ ถ่ายภาพผีเสื้อเกือบทุกวันหยุดที่ว่าง เมื่อถ่ายภาพมาได้แล้ว นำภาพมาให้ดูและถามถึงผู้รู้ในเรื่องผีเสื้อ เพื่อยืนยันชนิดของผีเสื้อ จากเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ จากภูมิปัญญาที่เขียนคู่มือผีเสื้อ เดินทางไปหอสมุดแห่งชาติเพื่อตามค้นหนังสือคู่มือผีเสื้อของประเทศไทย ที่มีความเที่ยงตรงและยืนยันได้ซึ่งหนังสือไม่มีขายในท้องตลาด จากนั้นนำภาพผีเสื้อจัดแสดงให้นักเรียน นักศึกษา เยาวชน ประชาชนได้ชม เมื่อมาเรียนรู้ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ความตั้งใจ ความเข้าใจในบริบทแวดล้อม การประมวลข้อมูลชัดเจน การลงมือปฏิบัติจริง การยืนยันความถูกต้องจากสิ่งที่ปฏิบัติมา การเผยแพร่ความรู้ เป็นการเรียนรู้สไตล์ญี่ปุ่นสไตล์หนึ่ง”
สรุปว่า การออกแบบงานต้องคำนึงถึง นโยบาย วิสัยทัศน์ เป้าหมาย วัตถุประสงค์ ความต้องการ บริบทแวดล้อมของชุมชน เป็นข้อมูลประกอบการออกแบบงานจึงถือว่าเป็น Designer ที่ดีได้

ความหมายของคำว่า ภาวะผู้นำ(Leadership)

มีนักวิชาการบุคคลสำคัญได้ให้ความหมายของคำว่า ภาวะผู้นำ ซึ่งเขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า Leadership ไว้หลายความหมาย แต่สำหรับความหมาย ภาวะผู้นำ ในหนังสือ “พลวัตการบริหารจัดการองค์กรด้วยสมองสองมือ” ให้ความหมายตรง ๆ ว่า “ภาวะผู้นำ คือ ภาวะผู้ขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงองค์กรซึ่งหมายถึงบุคคลในองค์กรให้พัฒนาไปในแนวทางสร้างสรรค์เกิดสิ่งใหม่ๆ อย่างไม่หยุดยั้ง” ภาวะผู้นำยังต้องมีอยู่ในตัวของทุกคนตั้งแต่ผู้บริหารถึงบุคลากรที่อยู่ในทีม เป็นภาวะผู้นำที่เปลี่ยนกันขับเคลื่อน ในภาวะที่เหมาะสม ในสิ่งที่เป็นจุดเด่นซึ่งมีอยู่เฉพาะตัว ของแต่ละคนในทีมอยู่แล้ว
องค์ประกอบย่อยของภาวะผู้นำ (Leadership) ปีเตอร์ เอ็ม เซงกี้ (Peter M. senge) ได้กำหนดว่า ควรประกอบด้วยกันสี่เรื่องคือ หนึ่ง การเป็นผู้มีความสามารถออกแบบงานได้ (Designer) สอง การเป็นผู้สอนหรือเป็นครูได้ (Teacher) สาม การเป็นผู้เอื้อเฟื้อช่วยเหลือเกื้อกูล (Steward) ประการที่สี่ การเป็นผู้แสวงหาความรู้อยู่เสมอ (Learner) ใครก็ตามที่มีคุณสมบัติทั้งสี่ประการนี้ ปีเตอร์ เอ็ม เซงกี้ กล่าวว่าบุคคลนั้นมีภาวะผู้นำอยู่ในตน ในรายละเอียดขององค์ประกอบย่อยของภาวะผู้นำจะขยายความในตอนต่อไป

อ้างอิง เดชน์ เทียมรัตน์และกานต์สุดา มาฆะศิรานนท์ หนังสือ วินัยสำหรับองค์การเรียนรู้

กล้วยไม้ดินเบ่งบาน


กล้วยไม้รองเท้านารีฝาหอย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Paphiopedilum bellatulum เป็นกล้วยไม้ดินที่พบในประเทศ จีน พม่า ไทย ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,100-1,400 เมตร

Tuesday, November 09, 2010

การสร้างภาพลักษณ์และวัฒนธรรมองค์กร





การสร้างภาพลักษณ์และวัฒนธรรมขององค์กรนั้น อาจสร้างได้หลายแบบ แบบที่เห็นชัดและนิยมทำกันคือ ภาพลักษณ์ที่เกิดจากการแสดงออกด้วยการแต่งกาย เช่น การสวมใส่เสื้อผ้าเหมือนกัน การสวมใส่เสื้อผ้าสีเดียวกัน รูปแบบเหมือนกัน หรือการใส่เสื้อผ้าที่มีตราสัญลักษณ์เดียวกัน อาจโดยการปักด้วยด้ายสี หรือการทำซิลสกรีน ซึ่งบ่งบอกถึงความเป็นทีมก็นับเป็นการสร้างภาพลักษณ์แบบหนึ่ง ภาพลักษณ์อีกแบบหนึ่ง คือ ภาพลักษณ์ที่แสดงออกด้วยการปฏิบัติตนของกลุ่มหรือของทีม ให้ปรากฏต่อสายตาของสาธารณะถึงบทบาทหน้าที่ที่กระทำ เช่นภาพลักษณ์ของกลุ่ม เอน จี โอ (NGO) เป็นภาพลักษณ์ของกลุ่มคนที่ขับเคลื่อนเรื่องปัญหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม หรือความเท่าเทียมกันของความเป็นมนุษย์ ปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคม เป็นต้น
อาจสรุปได้ว่า การสร้างภาพลักษณ์และวัฒนธรรมขององค์กรอาจสร้างได้ทั้งสองทาง คือ ทางรูปที่ปรากฏจากการแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ และจากการปฏิบัติหน้าที่ ที่ชัดเจนจนปรากฏเป็นที่จดจำของสาธารณะ ตัวอย่างเช่น ภาพลักษณ์ทีมงาน กศน.บ้านนา ชอบแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าที่มีการซิลสกรีนด้านหลังเป็นรูป mind mapping แนวทางปฏิบัติตนเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง และบอกว่าทีมของเขาเป็นผู้อำนวยความสะดวก(Facilitator) ทำงานร่วมกับชุมชน นับเป็นภาพลักษณ์ที่เป็นรูปธรรมภาพหนึ่ง

นัยของคำว่า ประสิทธิภาพและประสิทธิผล

ธรรมดาธรรมชาติของผู้บริหารทุกคนที่ใส่ใจองค์กร ย่อมเฝ้ามององค์กรด้วยคำที่เขียนคล้ายกันทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ คำนั้นคือ คำว่า ประสิทธิภาพและประสิทธิผล ซึ่งภาษาอังกฤษเขียนว่า Efficiency และ Effectiveness ถึงแม้ว่าคำทั้งสองดูคล้ายกัน แต่ความหมายต่างกัน ต่างกันอย่างมีนัย ในลักษณะที่มีความต่อเนื่องสัมพันธ์กัน ขอขยายความคำว่า ประสิทธิภาพก่อนเพื่อให้เห็นความต่างที่สัมพันธ์กันอย่างชัดเจน เช่น เมื่อได้รับเงินงบประมาณมา จำนวน 30,000 บาท ให้ใช้ในการสอนอาชีพให้กับประชาชน จำนวน 30 คน เมื่อองค์กรทำกิจกรรมการเรียนรู้การแปรรูปอาหารจากกล้วยเล็บมือนาง ในฤดูที่กล้วยสุกจำนวนมากซึ่งขายไม่หมด การสอนการแปรรูปอาหารโดยแปรรูป เป็นกล้วยอบเนย กล้วยอบสมุนไพร กล้วยเคลือบชอคโกแลต ผู้เรียนทั้ง 30 คน ทำได้ทุกวิธี ลักษณะเช่นนี้คือกิจกรรมการเรียนรู้อาชีพการแปรรูปอาหารมีประสิทธิภาพบรรลุตามวัตถุประสงค์ ใช้เงินได้ถูกต้องเหมาะสม ผู้เรียนทำเป็น แต่ความหมายของคำว่า ประสิทธิผล มีความหมายมากกว่าคำว่าประสิทธิภาพ คือหลังจากผู้เรียนรู้ทั้งหมดที่เรียนจบทำได้ทุกวิธีแล้ว ผู้เรียนนำไปประกอบอาชีพ เปิดร้านค้าขาย กล้วยอบสมุนไพร กล้วยอบเนย กล้วยเคลือบชอคโกแลต จนมีรายได้เลี้ยงครอบครัว ซึ่งอาจจะไม่ทุกคนแต่หลายคนมีอาชีพ ถือว่าโครงการนี้มีประสิทธิผล มีคุณภาพน่าชื่นชม หากจะตรวจสอบกับไดอะแกรมทฤษฎีเชิงระบบอาจเทียบได้ดังนี้

Input --- Process --- Output + Outcome
เงิน,คน,การจัดการ --- แปรรูปกล้วย --- ทำได้ทุกคน+เปิดร้านขาย

ผู้เขียนเชื่อว่าผู้บริหารทุกท่านคงต้องการให้กิจกรรมที่องค์กรทำไปถึงความมีประสิทธิผล (Effectiveness ) ซึ่งเท่ากับบรรลุถึงผลลัพธ์ (Outcome) ของกิจกรรม ทุกคนในองค์กรย่อมมีความสุขจากผลของงานที่ได้รับ

ทฤษฎีเชิงระบบ System Approach








ผู้บริหารที่มีคุณภาพทุกคน มักมีหลักการ ทฤษฎีที่เป็นเหมือนกรอบในการวัด ในการประเมินผลเรื่องใดของงานที่องค์กรของตนปฏิบัติ ซึ่งหลักการและทฤษฎีที่ผู้บริหารเลือกใช้เป็นเรื่องปัจเจกบุคคล สำหรับผู้เขียนแล้วกรอบหรือทฤษฎีที่ใช้เสมอคือ ทฤษฎีเชิงระบบ เพราะมีโครงสร้างง่าย เมื่อนำกรอบนี้ไปประเมิน ทำได้ง่ายรวดเร็ว กรอบทฤษฎีเชิงระบบนั้นมีรายละเอียดคือ “ ปัจจัยนำเข้าหรือปัจจัยป้อนสู่กระบวนการผลิตออกมาเป็นผลผลิตและผลลัพธ์ หากมีผลกระทบก็นำเข้าสู่ปัจจัยป้อนหรือกระบวนการผลิตใหม่อีกครั้ง ” เขียนเป็น ไดอะแกรม ได้ดังภาพ
อธิบายขยายเป็นตัวอย่าง เช่น หากจะประเมินแผนงานและโครงการดูว่ามีประสิทธิภาพ(Efficiency)เพียงพอหรือไม่ก็สามารถประเมินได้ทันทีโดยเริ่มตรวจสอบจาก
ปัจจัยนำเข้า เช่น โครงการนี้ใช้เงินเท่าไร ใช้คนคือใครบ้าง ใช้วัสดุมากน้อยเท่าใด เหมาะสมหรือไม่ ใช้เครือข่ายใด
ดูกระบวนการ ใช้วิธีใดในการทำงาน ใช้เทคโนโลยีอะไรบ้าง ใช้การประสานสัมพันธ์อย่างไร
ผลผลิต ผลผลิตที่ได้มีประสิทธิภาพคุ้มทุนหรือไม่ และจะมีผลลัพธ์(Outcome)อื่นตามมาหรือไม่อย่างไร เพียงใด
การใช้ทฤษฎีเชิงระบบ หรือ System Approach ในการประเมินทำให้การวางแผนงานโครงการมีความชัดเจนและผิดพลาดได้น้อย อีกทั้งยังเป็นการคาดการณ์ถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นล่วงหน้าได้ อ้างอิง Stephen and Mary. 2003:13 หนังสือ Management

การทบทวนประเมินผลทั้งทีม AAR =After Action Review

ทุกครั้งหรืออาจเป็นทุกวันที่ทีมงานทำกิจกรรม ที่ไม่ใช่งานประจำ (Routine) ทุกคนต้องมานั่งพูดคุยทบทวนและประเมินผลการทำกิจกรรมในครั้งนั้นหรือในวันนั้น ว่าผลเป็นอย่างไร มีข้อดี ข้อเสียอย่างไร มีปัญหาอุปสรรคอะไรบ้างแก้ไขอย่างไร โดยใช้เวลาโดยรวมไม่มากนักอาจประมาณครึ่งชั่วโมง การทำ AAR เป็นข้อตกลงร่วมกันว่า เมื่อจบภารกิจในหนึ่งวันหรือหนึ่งครั้ง ทุกคนในทีมต้องพูดคุยกัน
กติกาของการทำ AAR = After Action Review คือ ข้อหนึ่ง ทุกคนในทีมนั่งล้อมวงมองเห็นหน้าซึ่งกันและกัน ข้อสอง ทุกคนพูดในส่วนของตนที่ปฏิบัติในทุกประเด็นที่ต้องการพูดโดยระหว่างพูด ทุกคนในทีมเป็นผู้ฟังที่ดี ข้อสาม เมื่อทุกคนพูดจบครบทีมแล้ว ใครจะแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมก็ทำได้แต่ไม่มีการอภิปรายวิพากษ์วิจารณ์กัน
การทำ AAR ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลจากการทำกิจกรรมที่ทุกคนปฏิบัติและประสบมา ข้อมูลจึงหลั่งไหลผ่านทุกคนในทีมได้รับรู้ทั้งปัญหาทั้งอุปสรรค ความสำเร็จ AAR จึงเป็นกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของทีม ส่งผลให้คุณภาพกิจกรรมสูงขึ้น เพราะทุกคนในทีมต่างนำข้อมูลที่หลั่งไหลผ่านตนไปปฏิบัติภารกิจโดยไม่รู้ตัว
AAR = After Action Review เป็นการพัฒนาบุคลากรทีมงานรูปแบบหนึ่ง

Thursday, November 04, 2010

เทคนิคการทำวิสัยทัศน์ร่วมขององค์กร(Shared Vision)

สำหรับเรื่อง Shared Vision หรือการทำวิสัยทัศน์ร่วมขององค์กรนั้น จริงๆ แล้ว Shared Vision หรือวิสัยทัศน์ร่วมเป็นตัวชี้วัดตัวหนึ่ง ที่อยู่ในเรื่ององค์กรแห่งการเรียนรู้ ( Learning Organization ) ถ้าทำวิสัยทัศน์ร่วมในองค์กรได้ย่อมมีผลต่อการบริหารงานเป็นอย่างมาก แต่ส่วนใหญ่แล้วไม่ได้ Shared Vision จริง เป็นเพียงวิสัยทัศน์ของใครคนใดคนหนึ่ง การที่จะทำวิสัยทัศน์ให้เป็นวิสัยทัศน์ร่วมต้องใช้เทคนิคช่วยในการทำ ซึ่งผู้ที่ทำต้องเป็นผู้ที่เปิดเผย และอยากเห็นวิสัยทัศน์นั้นเป็นวิสัยทัศน์ร่วมอย่างแท้จริง
จากประสบการณ์ที่ได้ทำในหน่วยงานและในชุมชน ได้ใช้เทคนิคสองเทคนิคในการทำวิสัยทัศน์ร่วม เทคนิคที่หนึ่ง เป็นเทคนิคที่เรียกว่า การเสวนา (Dialogue) ใช้เทคนิคการเสวนาเพราะการเสวนาต่างจากส่วนอื่นตรงที่ เป็นการเปิดประเด็นพูดคุยแบบสบายๆ ไม่มีตำแหน่ง ไม่มีหัวโขน ทุกคนพร้อมที่จะแสดงความคิดเห็นเต็มที่ ร่วมกับเทคนิคที่สอง คือเทคนิคบัตรคำ หรือเทคนิค Metaplan เพราะว่าการทำวิสัยทัศน์ร่วมนั้น ถ้าคนในองค์กรไม่อยากพูดหรือพูดแล้วกลัวว่าจะส่งผลเสีย ถ้าใช้วิธีการเสวนาอย่างเดียวอาจไปไม่ถึงแก่นในสิ่งที่เขาปรารถนาต้องการ จึงต้องใช้เทคนิคที่เรียกว่า Metaplan ช่วยด้วย ผู้ดำเนินการ (Facilitator) ซึ่งควรเป็นผู้บริหารเป็นผู้ดำเนินการใช้เทคนิค Dialogue และเทคนิค Metaplan ในเวทีพูดคุยกับทุกคนในองค์กรยิ่งครบทุกคนได้ยิ่งดี โดยให้เขาเขียนข้อความหรือพูดเรื่องราวที่เป็นความใฝ่ฝันหรือความปรารถนา ที่อยากจะเห็นสิ่งนั้นเกิดขึ้นกับองค์กรในอนาคตอีก 3 ปี 5 ปี ข้างหน้า เพราะเรื่องของวิสัยทัศน์ ( Vision )เป็นภาพที่เกิดขึ้นในอนาคต ให้เขาเขียนลงมาทุกอย่าง และพูดทุกความต้องการยิ่งมากยิ่งดี เมื่อทุกคนเขียนมาจนพอในสิ่งที่ปรารถนาแล้ว ผู้ดำเนินการหรือผู้ใช้เทคนิค Dialogue ใช้เทคนิค Metaplan จะแยกบัตรคำเป็นกลุ่มๆ เช่น กลุ่มคำนี้พูดถึงเรื่องความสามัคคี กลุ่มคำนี้พูดถึงเรื่องระเบียบวินัย แยกข้อคิดของทุกคนเข้ากลุ่ม เมื่อแยกข้อคิดของทุกคนเรียบร้อยแล้ว ผู้ร่วมเวทีเสวนาทุกคนในองค์กรจะเห็นว่าสิ่งที่เขาแสดงความคิดเห็นมีคุณค่า ไม่ได้หายไปไหน อยู่บนกระดานที่แบ่งกลุ่มเป็นส่วนไป เมื่อได้แยกกลุ่มคำทั้งหมดแล้ว ในการที่จะมาร้อยเรียงให้เป็นวิสัยทัศน์ร่วมนั้น จำเป็นต้องให้คำของกลุ่มนั้นกระชับเข้า โดยการพูดคุยกัน หาคำมาแทนกลุ่มคำแต่ละกลุ่มที่เป็นพวกเดียวกัน มีคำๆไหนที่แทนได้บ้าง เมื่อได้คำพวกนั้นแล้วคำก็จะสั้นลง จากนั้นจึงร้อยเรียงคำมาเป็นวิสัยทัศน์ที่เป็นวิสัยทัศน์ร่วม (Shared Vision)อย่างแท้จริง
ทุกคนจึงรู้สึกได้ว่าสิ่งที่ได้แสดงความคิดเห็น ไปปรากฏเป็นส่วนหนึ่งอยู่ในวิสัยทัศน์ เหมือนเป็นการวางแผนแต่แผนนี้อยู่ในจิตนาการของทุกคนแล้ว ถ้าทำวิสัยทัศน์ร่วมได้เท่ากับงานสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง เนื่องจากทุกคนเห็นทิศทางในการทำงาน ทุกคนได้แสดงความเห็นร่วมกันและทุกคนก็รู้ว่าวิสัยทัศน์ของตัวเองอยู่ในนั้น เมื่อนำแผนไปสู่การปฏิบัติทุกคนจึงประสานแผนกันได้ การทำงานเป็นทีมจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น นี่คือความหมายของ Shared Vision แต่ว่าการจะทำให้เกิด Shared Vision อย่างจริงจัง ต้องเรียนรู้เทคนิคทั้งสองที่กล่าวไว้ข้างต้น แล้วลองทำด้วยความรู้สึกที่เรียกว่า เปิดเผย จริงใจ รับฟังความคิดเห็นของทุกคน เป็นหัวใจของ “Shared Vision”

เทคนิคการใช้บัตรคำ(Metaplan)

จากประสบการณ์การเปิดเวทีเสวนาของผู้เขียนหลายครั้งทั้งในราชการและเอกชน ในกรณีที่ผู้ร่วมเวทีมีฐานะทางสังคมต่างกัน ผู้มีฐานะทางสังคมสูงกว่ามักไม่ยอมถอดตำแหน่งหน้าที่ ความไม่เท่าเทียมย่อมเกิดขึ้นในวงเสวนา ผู้ด้อยกว่าในสังคมแทบจะไม่แสดงความคิดเห็นเลย ทั้งที่มีประเด็นอยากที่จะพูด อยากที่จะแสดงความคิด หรือในกรณีที่วงเสวนานั้นหยิบประเด็นที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อผู้คนมาเสวนา อาจทำให้ผู้ร่วมเสวนาไม่กล้าแสดงความคิดเห็นต่อกลุ่มด้วยเกรงว่าจะเปิดเผยตัวตน ทั้งสองกรณีสามารถเลี่ยงใช้บัตรคำ ให้ผู้ร่วมเสวนาเขียนแทนการพูด เทคนิคการใช้บัตรคำ หรือนิยมเรียกว่า เทคนิค Metaplan นั้นคือการตัดกระดาษเป็นชิ้นเล็ก ขนาดที่เขียนรายละเอียดสั้น ๆ เฉพาะประเด็น แจกให้ผู้ร่วมวงเสวนาได้เขียน โดยมีเงื่อนไขว่ากระดาษหนึ่งแผ่นต่อข้อความหนึ่งข้อความไม่ต้องลงชื่อใดใด หากต้องการเขียนหลายข้อความ หลายประเด็น หลายเรื่อง ก็ให้ใช้กระดาษหลายแผ่นโดยแต่ละแผ่นเป็นหนึ่งข้อความ เพื่อสะดวกในการจัดกลุ่มแยกข้อความเทคนิค Metaplan นี้ใช้ร่วมกับการเสวนา (Dialogue) ในการจัดทำวิสัยทัศน์ร่วม (Shared Vision) ได้เป็นอย่างดี

แผนภูมิความคิด(Mind Mapping)เป็นอย่างไร







แผนภูมิความคิดเป็นรูปแบบการจดบันทึกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเลียนแบบการโยงใยของเซลล์ประสาทสมอง ที่แตกกิ่งก้านสาขาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ผู้ที่พัฒนาวิธีการจดบันทึกรูปแบบนี้คือ โทนี่ บูซาน(Tony Buzan) นักเขียนระดับโลก ได้พัฒนา Mind Map เครื่องมือในการคิด ซึ่งเขาเชื่อว่ามนุษย์มีสมองส่วนบนสองส่วน ซึ่งสมองทั้งสองส่วนนั้นทำงานแตกต่างกัน โดยซีกซ้ายทำงานเกี่ยวกับตัวเลข ตรรกะ ภาษา ความเป็นเหตุผล การคิดวิเคราะห์ ซึ่งอาจเรียกว่า สมองซีกซ้ายนั้นเกี่ยวกับกิจกรรมทางวิชาการ ส่วนสมองซีกขวา ทำงานเกี่ยวกับจินตนาการ จังหวะ สี มิติ ภาพ ซึ่งอาจเรียกว่าสมองซีกขวานั้นเกี่ยวกับศิลปะ และโทนี่ บูซาน ยังเชื่อว่ามนุษย์สามารถบูรณาการ การใช้สมองทั้งสองซีกไปพร้อม ๆ กันได้ รูปแบบการจดบันทึกด้วย Mind Mapping จึงเกิดขึ้น
ขั้นตอนการจดบันทึกด้วย Mind Mapping มี 3 ขั้นตอนดังนี้ ขั้นตอนแรก บันทึกประเด็นเป็นคำสำคัญสั้น ๆ ซึ่งเป็นประเด็นของการเสวนาลงกลางหน้ากระดาษในลักษณะสี่เหลี่ยมผืนผ้าแนวนอน ขั้นตอนที่สอง บันทึกคำสำคัญจากประเด็นพูดคุยที่สังเคราะห์แล้ว โดยเริ่มบันทึกจากแขนงทางขวามือวนตามเข็มนาฬิกาไปจนรอบ ขั้นตอนที่สาม เมื่อมีข้อมูลในประเด็นย่อยที่ได้จากการเสวนามีความสัมพันธ์กับประเด็นแขนงใหญ่ใด ก็ให้เขียนต่อโยงกันไปในลักษณะ จัดลำดับความสำคัญโดยไม่มีที่สิ้นสุด อ้างอิง www.thailandpod.net

ผู้บริหารคือผู้นำการเสวนา

คำว่า “เสวนา” ในที่นี้ต่างจากคำว่า “สนทนา” ถึงแม้ว่าคำทั้งสองจะมาจากภาษาอังกฤษ คำเดียวกันคือ Dialogue ความหมายของการสนทนานั้น หมายถึงการพูดคุยกันธรรมดาพูดแล้วก็ผ่านไป ส่วนความหมายของคำว่า เสวนา (Dialogue) เดวิด โบห์ม (David bohm) นักฟิสิกส์สายควอนตัม(Quantum) ชาวอเมริกา ผู้มีความเชื่อว่า การเสวนาเป็นรูปแบบหนึ่งของการเยียวยาทางสังคม ได้ให้ความหมายว่า “การเสวนาเป็นถ้อยคำที่พูดคุยแล้วไหลอยู่ท่ามกลางตัวเราและคนอื่น ๆ ในวงเสวนา จนทำให้เกิดความเข้าใจสิ่งใหม่ ๆ อย่างสร้างสรรค์ ในวงเสวนาพูดคุยนั้นไม่มีใครพยายามที่จะให้ประเด็นของตนถูกต้องและชนะ แต่ทุกคนเป็นผู้ชนะร่วมกันผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม” นอกจากการพูดคุยแล้วการเสวนายังมีการจดบันทึกสรุปประเด็นสำคัญของการพูดคุย การจดบันทึกนิยมจดบันทึกในรูปแบบแผนภูมิความคิด (Mind Mapping) เพราะการจดบันทึกด้วยแผนภูมิความคิด เป็นการจดเฉพาะคำสำคัญ (Keyword) จึงจดได้มากในพื้นที่น้อย เมื่อมีเส้นโยงประกอบทำให้ผู้ร่วมเสวนาเห็นคำสำคัญ ที่ถูกสกัดจาการพูดคุยกันได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เงื่อนไขร่วมกันของวงเสวนามีเพียง 3 ประการ ประการแรก ในวงเสวนานั้นหยิบยกมาเพียงเรื่องหรือประเด็น (Issue) มาพูดคุยไม่มีทางเลือกใด ๆ ประการที่สอง ในวงเสวนาพูดคุยทุกคนต้องยอมฟังความคิดเห็นและเหตุผลของกันและกันด้วยความเคารพ ประการสุดท้าย ในวงเสวนาพูดคุยทุกคนต้องเท่าเทียมกัน (ไม่มีตำแหน่งหัวโขนใด ๆ)
เงื่อนไขทั้งสามประการจะทำให้การเสวนาหรือการ Dialogue บรรลุวัตถุประสงค์ของการพูดคุยอย่างมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
ผู้บริหารควรต้องเป็นผู้นำการเสวนาเอง ด้วยเงื่อนไขของการเสวนา ทำให้ผู้บริหารเป็นผู้รับฟังและผู้บริหารได้ลดตนเองลงเสมอเท่าเทียมผู้ร่วมวงเสวนา เป็นการลดทิฐิ อัตตาตัวตน ทำให้ผู้บริหารมีความอ่อนน้อมถ่อมตน “มีความถ่อมตน” เป็นมงคลหนึ่งคือมงคลที่ 23 ของมงคลชีวิตซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์โปรดสัตว์ทั้งหลายมากว่า 2550 ปี แล้ว

Wednesday, November 03, 2010

ความหมายของคำสำคัญเพื่อการสื่อสารที่ตรงกัน

คงมีคำสำคัญหลายคำที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้ และมีความหมายเฉพาะซึ่งอาจไม่ตรงกับความหมายในหนังสือวิชาการใดเลยเสียทีเดียว ด้วยผู้เขียนได้ผนวกความหมายที่พบเห็น จากการได้อ่านหนังสือวิชาการผนวกเข้ากับประสบการณ์ การได้มีโอกาสร่วมลงมือปฏิบัติกับกลุ่มองค์กรเอกชน (NGO) รวมทั้งได้เรียนรู้จากการทำงานร่วมกันเป็นทีม ของการเป็นผู้บริหารระดับต้น ในระดับอำเภอ ระดับภาค มากว่าสิบเจ็ดปี
ฉะนั้น ความหมายของคำสำคัญต่อไปนี้ จึงเป็นเพียงการสื่อสารให้เกิดความเข้าใจตรงกัน ระหว่างผู้เขียนและท่านผู้อ่านเท่านั้น เริ่มต้นจากคำว่า....
พลวัต(Dynamic) หมายถึง การขับเคลื่อนด้วยแรง ที่เพิ่มขนาดขึ้นเรื่อย ๆ ลักษณะคล้ายพายุทอร์นาโด(Tornado) พายุงวงช้าง ยิ่งหมุนยิ่งขยายขอบเขตกว้างออก เปรียบเทียบกับการพัฒนาองค์กรที่มีการเรียนรู้อย่างไม่หยุดนิ่งพัฒนาตลอดเวลา
หนึ่งสมองสองมือ หมายถึง การทำงานที่มีระบบคิดและลงมือปฏิบัติ มีการออกแบบการเรียนรู้และทดลองนวัตกรรมใหม่อยู่เสมอ
องค์กร หมายถึง คณะบุคคลทุกระดับที่ปฏิบัติงานอยู่ในสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่งจำนวน 20-30 คน
การบริหารจัดการ หมายถึง แนวคิด วิสัยทัศน์ ทิศทาง ขั้นตอนการปฏิบัติภารกิจสู่เป้าหมายให้สำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล มีคุณภาพสู่ระดับความเป็นเลิศ

ทัศนคติการเรียนรู้ของผู้บริหาร

ผู้เขียนมีโอกาสได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งมีข้อความน่าประทับใจเขียนว่า “ธรรมชาติให้ตามนุษย์มาสองตา แต่ให้ทำหน้าที่ดูเพียงอย่างเดียว ธรรมชาติให้หูมาสองข้าง แต่ให้ฟังอย่างเดียว แต่ที่แปลกอย่างมากคือธรรมชาติให้ปากมาหนึ่งปาก กลับให้ทำหน้าที่สองอย่างคือใช้กิน และพูดด้วย” ในหนังสือเล่มนั้นยังสรุปไว้ด้วยว่า ฉะนั้นคนเราควรจะพูดน้อย ๆ ฟังให้มาก ๆ เป็นผู้ฟังที่ดี ประโยคที่ได้อ่านจากหนังสือเล่มนั้นทำให้ผู้เขียนใช้เป็นแนวทางสำหรับการเรียนรู้ และเตือนตนเองให้เคารพการฟังเมื่อผู้คนพูด แม้เขาเหล่านั้นจะด้อยกว่าในคุณวุฒิ อ่อนกว่าในวัยวุฒิ เพราะการฟังอย่างตั้งใจจะพบสิ่งที่ดีมีคุณค่าซ่อนไว้ในคำพูดผู้คนเสมอ
ทัศนคติของการเรียนรู้ที่เป็นบวก คือคิดดี ตั้งใจ ใฝ่ใจในการเรียนรู้ ได้นำพาผู้เขียนสู่ประตูแห่งวิชาการ โดยยึดเป็นแนวทาง ในการทำ ในการปฏิบัติตน ให้รักการอ่าน รักการเขียน รักเรียนรู้ สู่ประตูวิทยาการเพื่อการพัฒนาตนเอง ท่านผู้อ่านก็คงเช่นกัน ท่านก็คงมีแนวทางในการเรียนรู้ที่ดีเพื่อการแบ่งปัน เพื่อการพัฒนา เพื่อการเรียนรู้ร่วมกัน

ความต้องการพื้นฐานของมนุษย์


มาสโลว์ (Abraham Maslow) เป็นนักจิตวิทยาสำคัญของโลกชาวสหรัฐอเมริกา เชื้อสายยิว (Jews) มาสโลว์ กล่าวว่า"ความปรารถนาของมนุษย์นั้นติดตัวมาแต่กำเนิดและความปรารถนาเหล่านั้นจะเรียงลำดับขั้นของความปรารถนาตั้งแต่ขั้นแรกไปสู่ความปรารถนาขั้นสูงขึ้นไปเป็นลำดับ"และได้เสนอทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมนุษย์ไว้เป็น 5 ขั้น แบบขั้นบันได ระดับแรกเป็นระดับความต้องการทางด้านร่างกาย ซึ่งหมายถึงความต้องการปัจจัยสี่ คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ระดับที่สอง ความต้องการความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ระดับที่สาม เป็นความต้องการความรักและการยอมรับ ระดับที่สี่ เป็นความต้องการความนับถือและยกย่อง ระดับที่ห้า มาสโลว์บอกว่ามนุษย์ทุกผู้คนต้องการความสำเร็จในชีวิต ผู้เขียนมีความเชื่อในทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ทั้งห้าขั้น และก็เชื่อว่าทุกท่านที่ถือหนังสือเล่มนี้อยู่ในมือ เป็นบุคคลผู้ต้องการความสำเร็จในชีวิตซึ่งเป็นระดับขั้นสุดท้ายของมาสโลว์ด้วยเช่นกัน ด้วยหนึ่งสมองสองมือเราสามารถทำสิ่งใด ๆ สำเร็จได้ ด้วยใจที่เปิดกว้าง ด้วยทัศนคติความคิดที่เป็นบวก เรียนรู้สิ่งใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในชีวิตของเรา


เข้าใจตนเองอย่างแท้จริง
Self-Actualization needs
ขั้นที่ 5

นับถือและยกย่อง
Self-Esteem needs
ขั้นที่ 4

ความรักและความเป็นเจ้าของ
Belongingness and love needs
ขั้นที่ 3

ปลอดภัย Safety needs
ขั้นที่ 2

ปัจจัยสี่ Physiological needs อ้างอิง http://th.wikipedia.org/
ขั้นที่ 1