Thursday, November 04, 2010

เทคนิคการทำวิสัยทัศน์ร่วมขององค์กร(Shared Vision)

สำหรับเรื่อง Shared Vision หรือการทำวิสัยทัศน์ร่วมขององค์กรนั้น จริงๆ แล้ว Shared Vision หรือวิสัยทัศน์ร่วมเป็นตัวชี้วัดตัวหนึ่ง ที่อยู่ในเรื่ององค์กรแห่งการเรียนรู้ ( Learning Organization ) ถ้าทำวิสัยทัศน์ร่วมในองค์กรได้ย่อมมีผลต่อการบริหารงานเป็นอย่างมาก แต่ส่วนใหญ่แล้วไม่ได้ Shared Vision จริง เป็นเพียงวิสัยทัศน์ของใครคนใดคนหนึ่ง การที่จะทำวิสัยทัศน์ให้เป็นวิสัยทัศน์ร่วมต้องใช้เทคนิคช่วยในการทำ ซึ่งผู้ที่ทำต้องเป็นผู้ที่เปิดเผย และอยากเห็นวิสัยทัศน์นั้นเป็นวิสัยทัศน์ร่วมอย่างแท้จริง
จากประสบการณ์ที่ได้ทำในหน่วยงานและในชุมชน ได้ใช้เทคนิคสองเทคนิคในการทำวิสัยทัศน์ร่วม เทคนิคที่หนึ่ง เป็นเทคนิคที่เรียกว่า การเสวนา (Dialogue) ใช้เทคนิคการเสวนาเพราะการเสวนาต่างจากส่วนอื่นตรงที่ เป็นการเปิดประเด็นพูดคุยแบบสบายๆ ไม่มีตำแหน่ง ไม่มีหัวโขน ทุกคนพร้อมที่จะแสดงความคิดเห็นเต็มที่ ร่วมกับเทคนิคที่สอง คือเทคนิคบัตรคำ หรือเทคนิค Metaplan เพราะว่าการทำวิสัยทัศน์ร่วมนั้น ถ้าคนในองค์กรไม่อยากพูดหรือพูดแล้วกลัวว่าจะส่งผลเสีย ถ้าใช้วิธีการเสวนาอย่างเดียวอาจไปไม่ถึงแก่นในสิ่งที่เขาปรารถนาต้องการ จึงต้องใช้เทคนิคที่เรียกว่า Metaplan ช่วยด้วย ผู้ดำเนินการ (Facilitator) ซึ่งควรเป็นผู้บริหารเป็นผู้ดำเนินการใช้เทคนิค Dialogue และเทคนิค Metaplan ในเวทีพูดคุยกับทุกคนในองค์กรยิ่งครบทุกคนได้ยิ่งดี โดยให้เขาเขียนข้อความหรือพูดเรื่องราวที่เป็นความใฝ่ฝันหรือความปรารถนา ที่อยากจะเห็นสิ่งนั้นเกิดขึ้นกับองค์กรในอนาคตอีก 3 ปี 5 ปี ข้างหน้า เพราะเรื่องของวิสัยทัศน์ ( Vision )เป็นภาพที่เกิดขึ้นในอนาคต ให้เขาเขียนลงมาทุกอย่าง และพูดทุกความต้องการยิ่งมากยิ่งดี เมื่อทุกคนเขียนมาจนพอในสิ่งที่ปรารถนาแล้ว ผู้ดำเนินการหรือผู้ใช้เทคนิค Dialogue ใช้เทคนิค Metaplan จะแยกบัตรคำเป็นกลุ่มๆ เช่น กลุ่มคำนี้พูดถึงเรื่องความสามัคคี กลุ่มคำนี้พูดถึงเรื่องระเบียบวินัย แยกข้อคิดของทุกคนเข้ากลุ่ม เมื่อแยกข้อคิดของทุกคนเรียบร้อยแล้ว ผู้ร่วมเวทีเสวนาทุกคนในองค์กรจะเห็นว่าสิ่งที่เขาแสดงความคิดเห็นมีคุณค่า ไม่ได้หายไปไหน อยู่บนกระดานที่แบ่งกลุ่มเป็นส่วนไป เมื่อได้แยกกลุ่มคำทั้งหมดแล้ว ในการที่จะมาร้อยเรียงให้เป็นวิสัยทัศน์ร่วมนั้น จำเป็นต้องให้คำของกลุ่มนั้นกระชับเข้า โดยการพูดคุยกัน หาคำมาแทนกลุ่มคำแต่ละกลุ่มที่เป็นพวกเดียวกัน มีคำๆไหนที่แทนได้บ้าง เมื่อได้คำพวกนั้นแล้วคำก็จะสั้นลง จากนั้นจึงร้อยเรียงคำมาเป็นวิสัยทัศน์ที่เป็นวิสัยทัศน์ร่วม (Shared Vision)อย่างแท้จริง
ทุกคนจึงรู้สึกได้ว่าสิ่งที่ได้แสดงความคิดเห็น ไปปรากฏเป็นส่วนหนึ่งอยู่ในวิสัยทัศน์ เหมือนเป็นการวางแผนแต่แผนนี้อยู่ในจิตนาการของทุกคนแล้ว ถ้าทำวิสัยทัศน์ร่วมได้เท่ากับงานสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง เนื่องจากทุกคนเห็นทิศทางในการทำงาน ทุกคนได้แสดงความเห็นร่วมกันและทุกคนก็รู้ว่าวิสัยทัศน์ของตัวเองอยู่ในนั้น เมื่อนำแผนไปสู่การปฏิบัติทุกคนจึงประสานแผนกันได้ การทำงานเป็นทีมจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น นี่คือความหมายของ Shared Vision แต่ว่าการจะทำให้เกิด Shared Vision อย่างจริงจัง ต้องเรียนรู้เทคนิคทั้งสองที่กล่าวไว้ข้างต้น แล้วลองทำด้วยความรู้สึกที่เรียกว่า เปิดเผย จริงใจ รับฟังความคิดเห็นของทุกคน เป็นหัวใจของ “Shared Vision”

No comments: