Wednesday, December 08, 2010

การบริหารงานเป็นโครงการ (Project Management)

งานใดใดที่ถูกวางแผนเป็นโครงการ แสดงว่างานนั้นมีระบบของงานอยู่ในระดับที่เชื่อถือได้ ว่างานน่าจะมีประสิทธิภาพประสิทธิผล เพราะผู้ปฏิบัติเข้าใจรายละเอียดตั้งแต่ ชื่อโครงการ ความสอดคล้องกับประเด็นยุทธศาสตร์ สอดคล้องกับนโยบายจุดเน้น ความสัมพันธ์กับมาตรฐานตัวบ่งชี้การประกันคุณภาพ หลักการและเหตุผล วัตถุประสงค์ เป้าหมาย วิธีดำเนินการ งบประมาณ ผู้รับผิดชอบ เครือข่าย โครงการที่เกี่ยวข้อง ผลลัพธ์และการติดตามประเมินผลโครงการ ยิ่งถ้าโครงการนั้น ผู้ปฏิบัติและทีมเป็นผู้เขียนโครงการเอง ความชัดเจนในการปฏิบัติยิ่งเพิ่มขึ้น อาจกล่าวได้ว่าหากมีโครงการหมายถึงงานสำเร็จไปแล้วกึ่งหนึ่งก็ว่าได้
ครั้งหนึ่งผู้เขียนได้รับการแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาแห่งหนึ่ง บุคลากรของสถานศึกษาเป็นผู้มีศักยภาพ แต่ขาดระบบและทิศทางการทำงาน ผู้เขียนได้พาบุคลากรทุกระดับ พูดคุยเสวนา (Dialogue) ค้นหาศักยภาพ ปัญหา ความต้องการ ขององค์กร จากนั้นจัดลำดับความสำคัญร่วมกัน ทุกคนนำประเด็นสำคัญมาเขียนเป็นโครงการและเป็นผู้อำนวยการโครงการ (Project Director) ที่ตนเขียน แต่ละคนชักชวนเพื่อนมาอยู่ในทีมในโครงการของตน เวลาผ่านไปหนึ่งปีงานถูกพัฒนาไปอย่างเห็นได้ชัด
ผลจากการทำงานเป็นทีม ทำงานเป็นโครงการทำให้สถานศึกษาได้รับพิจารณาให้รับโล่รางวัลสถานศึกษาขึ้นตรง ดีเด่น จากสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในปี พ.ศ.2552 คุณค่าของการบริหารงานเป็นโครงการ (Project Management) เป็นคุณค่าที่น่าสนใจน่าศึกษา

Tuesday, December 07, 2010

ความรู้บวกกับความรัก

ช่วงเดือนธันวาคม ปี 2553 ผู้เขียนมีโอกาสพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กับคุณศิวะพงศ์ นฤบาล นักวิชาการผู้ทรงความรู้เรื่องข้าว ของศูนย์วิจัยข้าวแม่ฮ่องสอน คุณศิวะพงศ์ ฝังตัวอยู่ที่อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน มากว่า 20 ปี ซึมซับความรู้สึกนึกคิด ความรู้ ความรัก ของกลุ่มชนท้องถิ่นไว้อย่างเต็มเปี่ยม ช่วงหนึ่งของการสนทนาคุณศิวะพงศ์กล่าวว่า “ผมใช้หลักการทำงานกับกลุ่มชนที่หลากหลายเผ่าในถิ่นนี้คือ ความรู้บวกกับความรักครับ” คุณศิวะพงศ์ ขยายคำพูดไว้อย่างน่าสนใจยิ่งว่า “ความรู้ในความหมายของผมหมายถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ความรู้ทางวิชาการที่เราได้เรียนมาบางครั้งเป็นความรู้ที่นำมาจากตำราหรือการค้นพบของผู้อื่น ซึ่งต่างบริบทพื้นที่ ต่างทวีป อาจนำมาใช้ในบ้านเราไม่ได้ทั้งหมด ส่วนความรู้ของภูมิรู้ของกลุ่มชนในท้องถิ่นเขาสะสมมานานหลายชั่วอายุคนแล้ว และก็เหมาะสมกับพื้นที่แต่ละแห่งแต่ละจุด หากเรายอมรับตรงนี้ได้ การแบ่งปันองค์ความรู้ซึ่งกันและกันจึงมีประโยชน์ เพราะเกิดการแลกเปลี่ยนและยอมรับซึ่งกันและกัน ต่างคนต่างได้ จึงเป็นความหมายของคำว่า “ความรู้” อย่างแท้จริงของผมครับ ส่วนคำว่าความรักนั้น ยิ่งละเอียดกว่าอีกมากเลยครับ ความรักหมายถึงการกลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งกับเขา เข้าใจเขา ยอมรับเขาอย่างจริงใจ ซื่อตรง เคารพความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน ช่วยเหลือแบ่งปันเอื้ออาทร สิ่งต่าง ๆ ที่ผมเล่ามา มันทำให้ชีวิตผมมีความสุขกับการทำงานมาก แม้จะลำบากในเรื่องพื้นที่การติดต่อเดินทาง แต่เป็นความสุขใจที่ได้ทำงานสนองรับใช้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เกี่ยวกับการวิจัยพันธุ์ข้าวที่แม่ฮ่องสอนนี้ครับ”
คำพูดที่คุณศิวะพงศ์ นฤบาล บอกเล่าทำให้ผู้เขียนประทับใจมาก ๆ เป็นคำคม ๆ จึงนำมาเขียนบอกเล่าเพื่อน ๆ นักบริหารที่ดี เพื่อนำทั้ง “ความรู้บวกกับความรัก” ไปใช้ในการทำงาน

ความรู้ฝังแน่นในตน (Tacit Knowledge)

“ความรู้” มีความหมายสองนัย นัยแรกเป็นความรู้ภายนอกทั่วไป (Explicit Knowledge) หมายถึงความรู้ที่ได้จาก การได้เห็น ได้ศึกษา ได้อ่าน ได้ฟัง หรืออาจกล่าวว่าเป็นความรู้จากการสัมผัสด้วยประสาทภายนอก นัยที่สองของความรู้ เป็นความรู้ที่ฝังแน่นในตน (Tacit Knowledge) ความรู้ชนิดนี้เป็นความรู้ที่สำคัญยิ่ง บุคคลในชาติที่เจริญทั้งหลาย สะสมความรู้ที่ฝังแน่นในตนไว้มาก เขาผ่านการเรียนรู้ ศึกษา ทดลอง หาความจริง ซ้ำๆ จนเชื่อถือได้ ความรู้ชนิดนี้นำมาพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ให้ดียิ่งขึ้นได้
คนไทยก็มีความรู้ฝังแน่นในตน ที่เรียกว่าองค์ความรู้ของภูมิปัญญา เป็นความรู้ที่ทดลองทำ ค้นหาองค์ความรู้ที่ถูกต้องแม่นยำที่สุด ในการประกอบอาชีพ หรือจากสิ่งที่ทำที่ชอบ แต่คนไทยไม่นิยมถ่ายทอดความรู้อย่างกว้างขวาง จึงทำให้องค์ความรู้สูญหายไป เมื่อภูมิรู้ภูมิปัญญาคนนั้นเสียชีวิต
ผู้เขียนมีความเห็นว่าความรู้ฝังแน่นในตนที่เป็นองค์ความรู้ ควรได้มีการเขียนบันทึกไว้เป็นมรดกของชาติ เป็นลิขสิทธิ์ของครอบครัว ซึ่งจะยังประโยชน์ต่ออนุชนอย่างยิ่ง